Hot Widget

Header ADS
Type Here to Get Search Results !
Header ADS

พณ. หนุน SME ใช้ FTA ลดเสี่ยง "ทรัมป์ 2.0"

กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเวทีถกภาคเอกชน ประเด็นโอกาสและความท้าทายจากสถานการณ์ทางการค้าในยุค "ทรัมป์ 2.0" ชี้ FTA ทางรอดธุรกิจไทยในการส่งออก โดยกระจายควาเสี่ยงการส่งออกไปยังตลาดใหม่และตลาดที่ไทยมี FTA พร้อมเน้นย้ำความสำคัญของการผลิตสินค้าโดยใช้วัตถุดิบภายในประเทศ ลุยเดินสาย 10 จังหวัดให้ความรู้ SME ไทยใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA

นางอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดงานสัมมนาภายใต้โครงการส่งเสริม SME ให้แข่งขันได้ในตลาดสากล เรื่อง "FTA ขยายธุรกิจ พิชิตส่งออก" เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 ธันวาคม 2567 ณ โรงแรมอวานี สุขุมวิท กรุงเทพฯ เชิญภาคเอกชนถกประเด็นร้อน โอกาสและความท้าทายจากสถานการณ์ทางการค้าโลกในยุค "ทรัมป์ 2.0" โดยกรมฯ เห็นว่า FTA จะเป็นทางรอดธุรกิจไทยในการส่งออก โดยจะช่วยกระจายความเสี่ยงการ ส่งออกไปยังตลาดใหม่และตลาดที่ไทยมี FTA ซึ่งผู้ส่งออกไทยจะมีแต้มต่อด้านภาษี พร้อมเน้นย้ำความสำคัญของการผลิตสินค้าโดยใช้วัตถุดิบภายในประเทศ (Local content) ให้ได้ถิ่นกำเนิดไทยตามกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าที่กำหนดไว้ เพื่อป้องกันการถูกเพ่งเล็งว่าเป็นสินค้าที่ปลอมแปลงหรือแอบอ้างถิ่นกำเนิดจากประเทศที่สหรัฐฯ มีแนวโน้มดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าแบบแข็งกร้าว

นางอารดาฯ เพิ่มเติมว่า ในปี 2568 คาดการณ์แนวโน้มการใช้สิทธิ FTA ว่ามีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น ผลมาจากนโยบายภาครัฐที่ส่งเสริมการส่งออกผ่านการใช้สิทธิ FTA และสิทธิประโยชน์ทางภาษีจาก FTA ที่จะเป็นแต้มต่อให้สินค้าไทยในการรักษาตลาดและขยายตลาดได้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในภาวะการแข่งขันของการค้าระหว่างประเทศที่มีความเข้มข้น โดยอันดับหนึ่งคาดว่าจะยังคงเป็นตลาดอาเซียน สิ่งที่น่าจับตามองในปี 2568 ของตลาดอาเซียน คือ การส่งออกไปยังเวียดนามที่มีสถิติการใช้สิทธิฯ เติบโตอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2567ในขณะที่ตลาดสำคัญอื่น เช่น จีน จากข้อมูลสถิติช่วงเดือนมกราคม - กันยายน 2567 พบว่า ทุเรียนสดยังเป็นสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกสูงที่สุด และมีแนวโน้มที่จะยังคงครองตลาดในจีนอย่างต่อเนื่องในปี 2568

นางอารดาฯ กล่าวว่า กรมการค้าต่างประเทศนอกจากเป็นหน่วยงานที่ร่วมเจรจาด้านกฎถิ่นกำเนิดสินค้าให้เหมาะกับรูปแบบการผลิตสินค้าของไทยแล้วยังมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ของความตกลง FTA โดยดูแลการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญที่จะใช้ประกอบการลดหรือยกเว้นภาษีขาเข้าจากประเทศคู่ภาคี โดยปัจจุบันเป็นการนำระบบเทคโนโลยีมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการสูงสุด

"ขณะนี้ กรมฯ อยู่ระหว่างเตรียมการออกกฎระเบียบและจัดทำระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อรองรับการใช้บังคับความตกลง ทั้งความตกลงที่มีอยู่เดิม เช่น อาเซียน - ออสเตรเลีย - นิวซีแลนด์ (AANZFTA) ที่เพิ่มรูปแบบการ รับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง และไทย - ญี่ปุ่น (UTEPA) ที่ให้มีการใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าแบบ อิเล็กทรอนิกส์ หรือ e- CO ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2568 และความตกลงฉบับใหม่ล่าสุด ได้แก่ FTA ไทย - ศรีลังกา (SLTFTA) ที่คาดว่าจะใช้บังคับในวันที่ 1 มีนาคม 2568"

นอกจากนี้ กรมการค้าต่างประเทศให้ความสำคัญกับการเร่งผลักดันการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าจาก FTA อย่างเต็มที่ ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายพิชัย นริพทะพันธุ์) เปิดแผนลุย จัดสัมมนาต่อเนื่องทั้งปี 2568 เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการไทยทั่วประเทศรวม 10 จังหวัด ได้แก่ ระยอง ชลบุรีพระนครศรีอยุธยา ลำพูน หนองคาย นครพนม นครราชสีมา กาญจนบุรี บุรีรัมย์ และสงขลา โดยครั้งถัดไปเดือนมกราคม 2568 ปักหมุด ณ จังหวัดระยอง ซึ่งการจัดสัมมนาทั้งหมดนี้ เป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะกลุ่ม SME ให้สามารถใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA ลดภาษีนำเข้า เพิ่มผลกำไร และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้มีทักษะและศักยภาพในการต่อยอดธุรกิจเพื่อขยายตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

โปรดติดตามความรู้ดี ๆ กับสิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ FTA กับงานสัมมนาในปี 2568 ได้ทางเว็บไซต์กรมการค้าต่างประเทศ www.dff.go.th รวมทั้งสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กองสิทธิประโยชน์ทางการค้า กรมการค้าต่างประเทศ โทร. 081 701 4654 หรือ สายด่วน 1385


กองสิทธิประโยชน์ทางการค้า
18 ธันวาคม 2567