Hot Widget

Header ADS
Type Here to Get Search Results !
Header ADS

สกท.เรียกร้องรัฐบาลแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรให้มีประสิทธิภาพ

สหพันธ์เกษตรกรแห่งประเทศไทย (สกท.) เรียกร้องรัฐบาลแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรให้มีประสิทธิภาพ


29 ตุลาคม 2567 ณ หน้ากระทรวงการคลัง สหพันธ์เกษตรกรแห่งประเทศไทย (สกท.) นำโดย นายสราวุธ ศุภรมย์ ผู้แทนเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมด้วยนายนิคม ฤทธิ์ศรีบุญ กรรมการจัดการหนี้ นายเทอดรัฐ นาหัวนิล ผู้แทนเกษตรกรภาคอีสาน และนายประสิทธิ์ บัวทอง ผู้แทนเกษตรกรภาคเหนือ ได้ให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนเพื่อหารือกับรัฐบาลแก้ปัญหาหนี้สินที่เกษตรกรกำลังเผชิญ โดยมีผู้แทนเกษตรกร ตาม พรบ. ทั่วประเทศ 20 คน ประกอบด้วย ภาคเหนือ 5 คน ภาคอีสาน 7 คน ภาคกลาง 4 คน และ ภาคใต้ 4 คน พร้อมกับพี่น้องชาวเกษตรกรทั่วประเทศอีกเป็นจำนวนมาก


นายสราวุธ ศุภรมย์ ผู้แทนเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า ขณะนี้มีการชุมนุมของผู้แทนเกษตรกรจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีนายเทอดรัฐ นาหัวนิล และนายนิคม ฤทธิ์ศรีบุญ ร่วมอยู่ในกลุ่ม เพื่อหารือเกี่ยวกับปัญหาหนี้สินที่เกษตรกรกำลังเผชิญ เกษตรกรได้มีการจัดตั้งกลุ่มผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้ง โดยมีสมาชิกเกษตรกรทั่วประเทศเกือบ 6 ล้านคน ซึ่งมีการหารือในหลายประเด็น โดยเฉพาะการเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาหนี้สินที่เกิดจากการกู้ยืมจากสถาบันการเงินต่าง ๆ เช่น ธนาคารกรุงไทยและธนาคารออมสิน เน้นย้ำความสำคัญของการรักษาที่ดินทำกินของเกษตรกร ซึ่งเป็นหัวใจหลักของพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ปี 2542 ทั้งนี้หวังว่าการประชุมบอร์ดใหญ่ของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรที่จะจัดขึ้นในวันพรุ่งนี้ จะมีการพิจารณาเรื่องการขึ้นทะเบียนหนี้และการจัดการหนี้สินของเกษตรกรอย่างมีประสิทธิภาพ ขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันเพื่อผลักดันการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้สำเร็จ โดยหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในการฟื้นฟูอาชีพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในอนาคต


นายเทอดรัฐ นาหัวนิล ผู้แทนเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ผมเป็นตัวแทนจากคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เพื่อแสดงความห่วงใยต่อปัญหาหนี้สินของเกษตรกรในวันนี้ สมาชิกของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรต่างประสบปัญหาหนี้สิน และไม่สามารถชำระหนี้ให้กับธนาคารได้ จึงมีการเสนอแนวทางช่วยเหลือ โดยรัฐบาลจะรับผิดชอบการชำระหนี้เพียงครึ่งเดียว ส่วนที่เหลือจะได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลตามมติคณะรัฐมนตรี ในวันพรุ่งนี้จะมีการประชุมเพื่อเตรียมเสนอรายชื่อเกษตรกรกลุ่มใหม่ จำนวน 10,000 คน ที่ต้องการเข้าร่วมโครงการนี้ เพื่อขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาล ขอยืนยันว่า นี่คือประเด็นสำคัญที่ผู้แทนเกษตรกรมาที่นี่เพื่อสนับสนุน และขอให้ผู้แทนจากองค์กรต่าง ๆ เข้ามาช่วยกันผลักดันในที่ประชุมในวันพรุ่งนี้


นายนิคม ฤทธิ์ศรีบุญ กล่าวว่า เขาเป็นตัวแทนเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรระดับชาติ รวมถึงกรรมการจัดการหนี้ การทำงานของกองทุนนั้นเกี่ยวข้องกับการขึ้นทะเบียนหนี้ ซึ่งจะต้องผ่านการรับรองจากคณะกรรมการ 9 คน ก่อนที่จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการชุดใหญ่ เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย ขอขอบคุณรองนายกรัฐมนตรีที่ให้เวลาในการประชุม เพื่อรับรองงบประมาณรายจ่ายประจำปี และการขึ้นทะเบียนหนี้ที่ผ่านการตรวจสอบจากคณะกรรมการระดับชาติ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของกองทุน ขอเน้นย้ำถึงความสำคัญของการประชุมที่จะเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้ โดยเฉพาะสำหรับเกษตรกรที่ประสบปัญหาหนี้สินและกำลังเผชิญกับการฟ้องร้องและการยึดทรัพย์ ซึ่งจะได้รับประโยชน์จากการประชุมนี้


นายสราวุธ ศุภรมย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรภายใต้ พ.ร.บ. กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ปี 2542 เป็นหัวใจหลักของการทำงานตลอด 25 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการฟื้นฟูอาชีพหลังการจัดการหนี้สิน ซึ่งมีเป้าหมายในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนหนี้ที่ไม่สามารถชำระได้ ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรเกิดจากโครงการส่งเสริมของรัฐในช่วงปี 2535-2538 ที่นำไปสู่ความล้มเหลว ดังนั้น กองทุนนี้จึงถูกตั้งขึ้นเพื่อเป็นฟูกที่รองรับเกษตรกรให้สามารถกลับมายืนได้อีกครั้ง ขอเรียกร้องให้รัฐบาลให้ความสนใจและสนับสนุนกองทุนฟื้นฟูมากขึ้น 


โดยเฉพาะในปีที่ผ่านมาที่ได้รับงบประมาณประมาณ 1,000 ล้านบาท และหวังว่าจะได้รับงบประมาณเพิ่มในอนาคตเพื่อรักษาที่ดินทำกินของเกษตรกรไว้ให้กับลูกหลาน ในส่วนของการประชุมในวันพรุ่งนี้


 ขอยืนยันว่าผู้แทนเกษตรกรทั้ง 20 คนมีมติเอกฉันท์ที่จะนำเสนอข้อมูลต่อบอร์ดใหญ่ และมั่นใจว่าการประชุมจะมีผู้เข้าร่วมมากมายจากทุกภูมิภาค และขอเตือนเกษตรกรให้ระมัดระวังมิจฉาชีพที่อาจเข้ามาหลอกลวงและใช้ช่องทางนี้ในการหาเงินจากเกษตรกรที่ประสบปัญหา และแนะนำให้ตรวจสอบข้อมูลผ่านองค์กรที่มีสำนักงานอยู่ในทุกจังหวัด เพื่อป้องกันการถูกโกง