Hot Widget

Header ADS
Type Here to Get Search Results !
Header ADS

เพิ่มโอกาสทางการศึกษา

สจล.ร่วมกับสถาบัน Fraunhofer IMW เยอรมนี สร้างความร่วมมือด้านงานวิจัย เพิ่มโอกาสการศึกษา พร้อมดัน “ต้นธูปฤาษี” สู่นวัตกรรมวัสดุก่อสร้าง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงทางวิชาการร่วมกับสถาบันวิจัยประยุกต์ Fraunhofer IMW จากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในการสร้างความร่วมมือด้านงานวิจัยร่วมกัน การร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการยกระดับการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมให้กับประเทศ ในส่วนหนึ่งของความร่วมมือในครั้งนี้ พร้อมดันงานวิจัยที่เกี่ยวกับ“ต้นธูปฤาษี” วัชพืชที่ถูกมองข้าม แต่มีคุณสมบัติพิเศษ และมีเยอะในประเทศไทยมาเป็นวัสดุในการสร้างบ้าน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยเทคโนโลยี มาทำเป็นวัสดุก่อสร้าง ที่เรียกว่า “Typha Board"  ใช้เป็นวัสดุในการสร้างบ้านไม้ทรงไทยเขตร้อน นอกจากนี้ยังมีการวางแนวทางถึงโครงการวิจัยร่วมในด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน เพื่อนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาจริงในสังคมและสิ่งแวดล้อมต่อไป 

ผศ. ดร.รัชนี กุลยานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม สจล. กล่าวว่า สจล. เป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศไทยที่มีชื่อเสียงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมศาสตร์ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาในหลากหลายด้าน โดยเฉพาะในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม และมีบทบาทสำคัญในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ที่ช่วยปรับปรุงกระบวนการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ให้กับชุมชนและผู้ประกอบการเพื่อสร้างความเจริญเติบโตและความยั่งยืน นอกจากนี้ยังเน้นการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงานและการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ทำให้นักศึกษามีทักษะและความรู้ที่ทันสมัยพร้อมสำหรับการทำงานในอนาคต ความร่วมมือในครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญในการนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาแลกเปลี่ยน ปรับเปลี่ยน และประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับลักษณะเฉพาะของพื้นที่ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุดในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

Mr. Urban Kaiser Head of Innovation Acceptance Unit ตัวแทนจาก Fraunhofer Center for International Management and Knowledge Economy IMW กล่าวว่า Fraunhofer มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงระหว่างการวิจัยพื้นฐานและการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง รวมถึงการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อพัฒนาความรู้และนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจ ความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรอย่าง สจล. นั้น จะช่วยให้นักวิจัยทั้งสองสถาบัน ได้แลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีและสภาพปัญหาในแต่ละพื้นที่ เพื่อนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะสร้างมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ซึ่งโครงการ CHARMS เป็นโครงการที่พัฒนา “Typha Board” ยังได้รับความสนใจจาก คณะผู้แทน Federal Ministry of Education and Research (BMBF) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และตัวแทนจากสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมชมโครงการ CHARMS ต้นแบบบ้านประหยัดพลังงาน เมื่อปลายเดือน มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมาอีกด้วย

นายสุระ เกนทะนะศิล กรรมการสภาสถาบันผู้ทรงคุณวุฒิ ตัวแทน สจล. ที่เข้าร่วมงาน กล่าวว่า สจล. และเยอรมันมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นมาอย่างยาวนาน ความร่วมมือครั้งนี้จึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะร่วมกันสร้างและพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมต่างๆ ซึ่ง สจล.เป็นสถาบันการศึกษาที่มีเป้าหมายชัดเจนในการเป็นผู้นำนวัตกรรมระดับโลก หรือ The World Master of Innovation การลงนามในบันทึกข้อตกลงทางวิชาการในครั้งนี้ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ อาจารย์และนักวิจัยของทั้ง 2  สถาบันได้แลกเปลี่ยน เรียนรู้ร่วมกัน เพื่อใช้พัฒนาองค์ความรู้ สร้างสรรค์นวัตกรรม ให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์เป็นที่ยอมรับในระดับโลก สร้างมูลค่าเชิงเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เพิ่มโอกาสการวิจัยและการศึกษาให้กับนักศึกษาและบุคลากรจากทั้งสองสถาบัน และเพื่อขับเคลื่อนประเทศต่อไป

ติดตามข่าวสารผลงานวิจัยได้ที่ https://www.facebook.com/share/p/QZPGsZjirTebGb4K/ 
ติดตามความเคลื่อนไหวอื่น ๆ ที่น่าสนใจได้ทาง https://www.facebook.com/kmitlofficial   และเว็บไซต์ https://www.kmitl.ac.th  หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8000