คณะวิทยาศาสตร์ ม.รามคำแหง จัดโครงการอาคารสีเขียวมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำเพื่อเป้าหมาย Net Zero
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ดำเนินการพัฒนาต้นแบบและวางแนวทางการจัดสถานที่ทำงานและอาคารต่างๆ ภายในคณะวิทยาศาสตร์มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวอย่างยั่งยืน โดยจัดทำ “โครงการอาคารสีเขียวมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ” ที่ยึดหลักการพัฒนาโครงการฯ บนพื้นฐานการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG หรือโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และพัฒนาองค์กรสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero
สำหรับในปี 2567 คณะวิทยาศาสตร์ได้จัดกิจกรรมภายใต้โครงการอาคารสีเขียวมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำในวันที่ 28 มิถุนายน 2567 โดยมี รศ.ดร.บุญเอก ยิ่งยงณรงค์กุล รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย เป็นประธานกรรมการฝ่ายดำเนินงาน และ รศ.ดร.ธัชชัย ปุษยะนาวิน ผู้ประธานงานสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม เป็นรองประธานกรรมการฯ กิจกรรมในช่วงเช้าเป็นภาคบรรยาย 3 เรื่อง และช่วงบ่ายเป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการ 3 เรื่อง
การบรรยาย เรื่อง “ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้กระดาษ” โดย ผศ.ดร.ดนยภรณ์ พรรณสวัสดิ์ และ อาจารย์ ดร. ชญานิษฐ์ วิทยาภิรมย์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ที่มุ่งเน้นการลด คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร โดยอาศัยความร่วมมือของคณาจารย์ บุคลากรสายสนับสนุน และนักศึกษา
การบรรยาย เรื่อง “การประยุกต์ใช้โปรแกรม Zero Carbon Application และ Nature-based Solutions” โดย รศ.ดร. มาฆมาส สุทธาชีพ ภาควิชาชีววิทยา และหัวหน้าโครงการวิจัย “การประเมินผลผลิตก่อนดำเนินการวิจัยของโครงการวิจัยภายใต้แผนงานการท่องเที่ยวบนฐานมรดกทางธรรมชาติ การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ปี 2567” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากแผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. ที่มี ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. เป็นประธานอนุกรรมการแผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หน่วยงานบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และมี รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ ยีมิน เป็นผู้อำนวยการแผนงานการท่องเที่ยวบนฐานมรดกทางธรรมชาติ การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ สำหรับ Zero Carbon Application นั้น เป็นโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของ บพข. อบก. และหน่วยงานในเครือข่ายการท่องเที่ยว เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (carbon neutral tourism: CNT) ที่มุ่งสู่การท่องเที่ยวปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero tourism: NZT) และการท่องเที่ยวธรรมชาติเชิงบวก (nature positive tourism) การบรรยาย เรื่อง “การดูแลต้นไม้ใหญ่ตามหลักรุกขกรรม” โดยคุณชนัตฏา ดำเงิน รุกขกรจากบริษัทรุขกรวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ซึ่งให้ความรู้เกี่ยวกับการคัดเลือกต้นไม้ การดูแลรักษา การประเมินความเสี่ยง ความปลอดภัยของชุมชน และสาธารณูปโภค เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างมีคุณภาพ
การประชุมเชิงปฏิบัติการ มีหัวข้อดังนี้ 1) "สวนสวยด้วยมือเรา" โดย อาจารย์ ดร. พงษ์ศักดิ์ ละไมพิศ สาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร, 2) “การทำสบู่สมุนไพรฟองฟู่” โดย ผศ.ดร. ศศิธร ตันฑวรรธนะ สาขาวิชาการแพทย์แผนไทย, 3) “พฤกษศิลป์ อิน อีโคปริ๊นติ้ง” โดย ผศ.ดร. หฤทธิ์ นิ่มรักษา สาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร และคณะ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการประกวดภาพถ่าย“สุนทรียแห่งธรรมชาติ รอบรั้วรามฯ” การแจกกล้าไม้ “แลกเปลี่ยน ส่งต่อ พืชพรรณ มรดกทางธรรมชาติ” โดย รศ.ดร. กนกอร เรืองสว่าง ภาควิชาชีววิทยา และคณะ รวมทั้งการสาธิต “การออกแบบ การตัดกิ่ง และการดูแลต้นไม้ใหญ่” โดยอาจารย์เวชศาสตร์ พลเยี่ยม ภาควิชาชีววิทยา และคุณชนัตฏา ดำเงิน คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงจะดำเนินโครงการอาคารสีเขียวฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งสู่มหาวิทยาลัยยั่งยืน (sustainable university)