สทท. แถลงข่าว “ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยและอัพเดตสถานการณ์ท่องเที่ยว” ไตรมาส 1/2567
สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) จัดแถลงข่าว “ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยและอัพเดตสถานการณ์ท่องเที่ยว” ไตรมาส 1/2567
โดยมีนายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธาน สทท. เป็นประธานในการแถลงข่าวเรื่อง "สทท. หนุน Ignite Tourism Thailand เสนอยุทธศาสตร์สู่การท่องเที่ยวสมดุล" และ "การช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยว (SME) ด้านการตลาด" ส่วน รศ.ผกากรอง เทพรักษ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จะมา “สรุปผลดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการท่องเที่ยวไตรมาส 1/2567” ณ ห้องประชุมกินรี ชั้น 10 อาคารการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 เมษายน 2567
รศ.ผกากรอง เทพรักษ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย กล่าวว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ระดับ 81 สะท้อนการประเมินสถานการณ์ท่องเที่ยวของผู้ประกอบการทั่วประเทศยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติมากแต่ดีกว่าไตรมาสที่ผ่านมา (77) และดีกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา (74)
แหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น (86) มีสถานการณ์ท่องเที่ยวเป็นบวกมากกว่าธุรกิจประเภทอื่น รองลงมาเป็นธุรกิจที่พักแรมและบริษัทนำเที่ยว (85)
ส่วนร้านขายของฝาก/ของที่ระลึกและสถานบันเทิง (75) ประเมินสถานการณ์ท่องเที่ยวลดลงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
สถานการณ์ท่องเที่ยวต่ำกว่าธุรกิจประเภทอื่น ภาคใต้ (86) สถานการณ์ท่องเที่ยวเป็นบวกมากกว่าภูมิภาคอื่น รองลงมาเป็นภาคตะวันออก (84) และภาคเหนือ (83) ตามลำดับ ส่วนภาคกลาง (77) สถานการณ์ท่องเที่ยวต่ำกว่าภูมิภาคอื่น
อัตราการเข้าพักในธุรกิจที่พักแรมในภาพรวมร้อยละ 60 น้อยกว่าไตรมาส 4/2566 โดยภาคใต้มีอัตราการเข้าพักสูงที่สุด (ร้อยละ 72) รองลงมา ภาคตะวันออก (ร้อยละ 64) ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอัตราการเข้าพักน้อยที่สุด (ร้อยละ 51)
ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์สถานการณ์ท่องเที่ยวไตรมาส 2/2567 จากผู้ประกอบการทั่วประเทศ อยู่ที่ระดับ 83 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นสถานการณ์ท่องเที่ยวไตรมาสหน้าอยู่ในภาวะทรงตัวจากไตรมาส 1/2567 แต่ดีกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
บริษัทนำเที่ยวและแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้นที่คาดว่าสถานการณ์ท่องเที่ยวในไตรมาส 2/2567 จะลดลงกว่าไตรมาสนี้
โดยธุรกิจบริการขนส่งนักท่องเที่ยว (90) คาดว่าสถานการณ์ท่องเที่ยวเป็นบวกมากกว่าธุรกิจประเภทอื่น รองลงมาเป็นร้านขายของฝาก/ของที่ระลึก (88) และธุรกิจที่พักแรม (86) ตามลำดับ
ส่วนบริษัทนำเที่ยว (76) คาดว่าสถานการณ์ท่องเที่ยวต่ำกว่าธุรกิจประเภทอื่น คาดว่าภาคตะวันออกสถานการณ์ท่องเที่ยวจะลดลงกว่าไตรมาสนี้ ส่วนภาคตะวันตกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือคาดว่าสถานการณ์ท่องเที่ยวทรงตัว ภาคใต้ (89) คาดว่าสถานการณ์ท่องเที่ยวเป็นบวกมากกว่าภูมิภาคอื่น รองลงมาเป็นกรุงเทพมหานคร (88) ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันตก (79) คาดว่าสถานการณ์ท่องเที่ยวต่ำกว่าภูมิภาคอื่น
คาดว่าปี 2567 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 35.8 ล้าน คน น้อยกว่าปี 2562 ร้อยละ 10.32 และมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท น้อยกว่าปีที่ 2562 ร้อยละ 12.10
รายได้ของผู้ประกอบการลดลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เมษายน 2566 แต่ในปลายไตรมาส 4/2566 ได้แรงส่งจากเทศกาลส่งท้ายปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่ ส่วนรายได้ของผู้ประกอบการในไตรมาส 1/2567 ลดลงจากไตรมาส 4/2566 โดยฟื้นตัวจากช่วงก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 (2562) ประมาณร้อยละ 53 รายได้ของผู้ประกอบการที่ลดลงอย่างต่อเนื่องสะท้อนภาวะเงินฝืดที่เกิดขึ้นภายในประเทศ สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อที่ติดลบต่อเนื่องกันมาถึง 5 เดือน ตั้งแต่ตุลาคม 2566-กุมภาพันธ์ 2567
นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธาน สทท. กล่าวว่า ผู้ประกอบการร้อยละ 80 และประชาชนร้อยละ 83 มีความเห็นว่าเศรษฐกิจภายในประเทศเข้าสู่ภาวะเงินฝืด ผู้ประกอบการร้อยละ 93 และประชาชนร้อยละ 85 คิดว่ารัฐบาลควรมีการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือมีการกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ แต่มีประชาชนเพียงร้อยละ 37 เท่านั้นที่เห็นด้วยกับการใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจถึง 5 แสนล้าน ประชาชนส่วนใหญ่ (ร้อยละ 65) ต้องการให้ใช้เงินเหมือนกับโครงการคนละครึ่งและใช้กับร้านสะดวกซื้อหรือห้างสรรสินค้าไม่ได้ ผู้ประกอบการร้อยละ 21 ต้องการให้แจกเป็นเงินสด เนื่องจากสามารถนำไปใช้หนี้และนำไปต่อยอดเป็นเงินทุนในการประกอบอาชีพได้