วช.หนุน อบรมการประยุกต์ใช้เทคนิคเนียร์อินฟราเรดสเปกโตรสโกปีเพื่อวัดความสุกแก่ของผลไม้
ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลไม้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดการอบรมการประยุกต์ใช้เทคนิคเนียร์อินฟราเรดสเปกโตรสโกปีเพื่อวัดความสุกแก่ของผลไม้ ซึ่งเป็นผลการดำเนินการจากการได้รับการสนับสนุนการวิจัยจาก วช.
โดยมีนางสุภาพร โชคเฉลิมวงศ์ ผู้อำนวยการกองบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม 1 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการอบรม เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2567 ณ โรงแรมรามา การ์เด้น กรุงเทพมหานคร เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมนำความรู้ไปใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง
นางสุภาพร โชคเฉลิมวงศ์ กล่าวว่า ตามที่ วช. ภายใต้กระทรวง อว. ได้ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยแก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในการดำเนินการวิจัยให้ได้ผลเป็นรูปธรรมเพื่อเป็นข้อมูลทางวิชาการในการสนับสนุนและแก้ไขปัญหาให้กับสังคม และประเทศชาติ โดยสนับสนุนให้กับมหาวิทยาลัยนเรศวร ภายใต้โครงการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลไม้ ในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อใช้วัดความสุกแก่ของผลไม้ เพื่อเป็นการขยายผลการวิจัยสู่ภาคประชาชน
วช. ได้ร่วมกับศูนย์เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลไม้ จัดการอบรมการประยุกต์ใช้เทคนิคเนียร์อินฟราเรดสเปกโตรสโกปีเพื่อวัดความสุกแก่ของผลไม้ เป็นการพัฒนากำลังคนทั้งภาคการศึกษาและผู้ประกอบการให้สามารถนำวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม มาใช้ในการแก้ปัญหาเบื้องต้น เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวได้ และผู้เข้ารับการอบรมจะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้เทคโนโลยี ความคิดเห็น พร้อมซักถามข้อสงสัยต่าง ๆ จากผู้เชี่ยวชาญให้เกิดความเข้าใจ ในกระบวนการตรวจสอบคุณภาพผลผลิตโดยการใช้เครื่องเนียร์ ทำให้ทราบถึงคุณภาพภายใต้ผลผลิตได้อย่างแม่นยำก่อให้เกิดการปฏิบัติและพัฒนาในการปรับปรุงคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวผลไม้ สามารถลดการสูญเสียและต้นทุน ช่วยเพิ่มมูลค่าและปริมาณการส่งออกได้ เป็นการช่วยยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท ผู้อำนวยการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลไม้ กล่าวว่า ศูนย์เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีฯ ได้รับการสนับสนุนจาก วช. ให้จัดการอบรมให้กับเกษตรกร และผู้ประกอบการ
เนื่องจากประเทศไทยมีการผลิตผลไม้ที่เป็นพืชเศรษฐกิจเป็นจำนวนมากและมีมูลค่าการส่งออกผลไม้สูง ได้แก่ ทุเรียนหมอนทอง มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง มะพร้าวน้ำหอม มังคุด ลำไย และส้ม ผลไม้บางชนิดให้ผลผลิตตลอดทั้งปี ส่งผลให้มีผลผลิตมีจำนวนมากในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศได้มากขึ้น แต่ในการส่งออกมักประสบปัญหาคุณภาพของผลไม้ไม่ได้มาตรฐาน เช่น ปัญหาทุเรียนอ่อน มะม่วงสุกมีรสเปรี้ยวจัด ผลไม้อื่น ๆ มีรสชาติไม่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค เนื่องจากการเก็บเกี่ยวอ่อนเกินไป
หากมีการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมมาช่วยในการวิเคราะห์ความสุกแก่ของผลไม้ ร่วมกับการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวที่มีคุณภาพก็จะช่วยแก้ปัญหาได้
ซึ่งเทคโนโลยีที่ได้รับความนิยมและมีการใช้แพร่หลายในต่างประเทศ คือ การประยุกต์ใช้เทคนิคเนียร์อินฟราเรดสเปกโตรสโกปีเพื่อวัดความสุกแก่ของผลไม้ ซึ่งเป็นกรรมวิธีที่สามารถตรวจสอบความแก่และคุณภาพของผลไม้ได้อย่างรวดเร็ว ไม่ทำลายสายผลผลิต และปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน
สุรเชษฐ์ ภาพ/ข่าว
แม็กกี๋ รายงาน