Hot Widget

Header ADS
Type Here to Get Search Results !
Header ADS

“เรา” พื้นที่พลังบวก

เดือนยุติความรุนแรง สสส.- สมาคมเพศวิถีศึกษา – Sidekick จัดกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงสากล สำรวจพบ 58% ถูกคุกคามทางเพศในโลกออนไลน์ ต้องการพื้นที่ปลอดภัย-เยียวยาจิตใจ  พร้อมเปิดตัวชุมชนออนไลน์แห่งใหม่ “เรา” ช่องทางแลกเปลี่ยน-ให้กำลังใจ-ฟื้นฟูความมั่นใจ รู้ทันการคุกคามทางเพศออนไลน์-ออฟไลน์ 

      เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2566 ที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา ไซด์คิก (Sidekick) องค์กรออกแบบการสื่อสารเพื่อสังคม จัดงาน “เรา” พื้นที่พลังบวก สืบเนื่องจากองค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้ทุกวันที่ 25 พ.ย. ของทุกปี เป็น “วันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงสากล” นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า สสส. ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายดำเนินงานยุติปัญหาความรุนแรง โดยจัดงาน “เรา” พื้นที่พลังบวก สะท้อนให้สังคมได้เห็นถึงปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ผลักดันให้เป็นประเด็นสาธารณะ ที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญร่วมแก้ไข ในงานมีการเปิดตัวแพลตฟอร์ม “เรา” ชุมชนออนไลน์เสริมพลังหญิง ให้ได้ทดลอง Public Beta Testing ก่อนใช้งานจริงในต้นปี 2567 กิจกรรมเสวนา “พื้นที่ออนไลน์ที่ปลอดภัย หน้าตาเป็นอย่างไร ผู้ใช้ต้องเป็นคนกำหนด” นิทรรศการ ทำความเข้าใจกับคำว่า Trauma  หรือ เหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจ
 “องค์กรเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) ระบุว่า 88% ของผู้หญิงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกถูกคุกคามทางเพศบนออนไลน์โดยเด็กหญิงวัยรุ่น และคนกลุ่มเปราะบางรับผลกระทบมากที่สุด มีสาเหตุสำคัญจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ข้อมูลจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ปี 2564 พบข่าวความรุนแรงในครอบครัวที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นตัวกระตุ้น 24.7% และยาเสพติด 17.2% ผู้หญิงที่ถูกกระทำส่วนใหญ่ไม่สามารถออกจากความสัมพันธ์ได้ ดังนั้นการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก อย่างเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยังคงเป็นภารกิจหลักที่ สสส. มุ่งมั่นขับเคลื่อนต่อไป พร้อมผลักดันความรุนแรงเป็นประเด็นสาธารณะ เพื่อลดความรุนแรงอันเนื่องจากเหตุแห่งเพศ โดยมียุทธศาสตร์การดำเนินงาน 4 ด้าน  1.พัฒนาองค์ความรู้ และแนวปฏิบัติในการลดความรุนแรง 2.พัฒนาต้นแบบในระดับชุมชนและสถานประกอบการ 3.เสริมศักยภาพแกนนำ/เครือข่ายลดความรุนแรง 4.สนับสนุนการขับเคลื่อนงานนโยบายลดความรุนแรง” นาง ภรณี กล่าว
          ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ที่ปรึกษาแผนงานสุขภาวะผู้หญิงฯ สมาคมเพศวิถีศึกษา กล่าวว่า ปี 2564-2566 แผนงานสุขภาวะผู้หญิงฯ ร่วมกับ Sidekick และผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา ศึกษาข้อมูลทำงานกับเยาวชนหญิงที่กำลังศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย รวมทั้งเริ่มเข้าสู่วัยทำงาน พบว่า เคยประสบเหตุการณ์ถูกคุกคาม หรือล่วงละเมิดในเรื่องที่เกี่ยวกับเพศ จำนวน 270 คน จาก 18 มหาวิทยาลัย  75 % เคยถูกคุกคามทางเพศโดยคนแปลกหน้าในที่สาธารณะ ตามมาด้วยการคุกคามทางเพศในพื้นที่ออนไลน์ 58 %  และ 87 % ของเยาวชนกลุ่มนี้บอกว่าเมื่อเจอเหตุการณ์ถูกคุกคาม หรือมีภาวะที่ถูกกระทบทางจิตใจจากเหตุการณ์ในอดีต จะเลือกหาความช่วยเหลือจากเพื่อนและคนในครอบครัว มีเพียง 20% ที่เลือกใช้ช่องทางความช่วยเหลือแบบเป็นทางการ เช่น จิตแพทย์ ตำรวจ และสายด่วนต่าง ๆ และยังมีอีก 10% ที่บอกว่าไม่เคยขอความช่วยเหลือจากแหล่งใด ๆ เลย
 “เหตุการณ์ที่เคยถูกคุกคามหรือล่วงละเมิดในอดีตได้สร้างผลกระทบทางจิตใจ มีผลไปถึงการเรียน การทำงาน และการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น รู้สึกเครียด หวาดผวา เสียความมั่นใจในตัวเอง บางส่วนต้องเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ ยกเลิกหรือเปลี่ยนบัญชีโซเชียลมีเดีย และส่วนใหญ่บอกว่าไม่กล้าเข้าสังคมและทำความรู้จักคนใหม่ ๆ จึงพัฒนาแพลตฟอร์ม “เรา” โดยมีผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาเป็นที่ปรึกษา ให้ข้อมูล โดยมีรูปแบบการแชร์ประสบการณ์ การก้าวข้ามเรื่องร้าย ๆ ในอดีตของบุคคลที่มีชื่อเสียง เคล็ดลับการสร้างวันดี ๆ ให้กับตัวเอง ช่องทางการพูดคุยแลกเปลี่ยนออนไลน์ โดยจัดกิจกรรมเยียวยา และเสริมพลังทั้งแบบออนไลน์ และออฟไลน์ที่สมาชิกสมัครเข้าร่วมได้ มีข้อมูลหน่วยงานให้ความช่วยเหลือ สำหรับผู้ที่ต้องการ เข้าใช้งานได้ที่ www.rao.asia แพลตฟอร์มของเพื่อนที่เข้าใจ” ดร.วราภรณ์ กล่าว
              ทิพย์เกสร สุตันคำ ตัวแทนผู้ใช้งานแพลตฟอร์ม “เรา” กล่าวว่า  แพลตฟอร์ม “เรา” เป็นพื้นที่ปลอดภัย เป็นช่องทางให้สร้างเพื่อน สร้างกำลังใจ มอบแรงบันดาลใจให้กัน ใช้งานได้ทุกช่วงเวลาทั้งตอนรู้สึกดาวน์ ต้องการกำลังใจ หรือช่วงเวลาที่รู้สึกดีๆและอยากแบ่งปัน Feature ที่ชอบมากที่สุดคือ พื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยน ด้วยความที่ไม่ต้องเปิดเผยตัวตน จึงทำให้รู้สึกสบายใจที่จะพูดคุยคนอื่นๆในพื้นที่ชุมชนของ “เรา” มีประสบการณ์ เคยเจอเหตุการณ์คล้าย ๆ กัน ก็จะเข้าใจกันมากกว่าเวลาคุยกับคนรอบข้างที่มองว่าสิ่งที่เราเจอมาเป็นแค่เรื่องเล็กน้อย จนทำให้เลือกเก็บทุกอย่างไว้คนเดียวมาตลอด พอมาเจอช่องทางที่ได้พูดและได้รับการตอบกลับมาเป็นข้อความที่ดี เป็นกำลังใจ ให้ข้อคิด ทำให้เราเจอทางออกอีกทาง