วช. ลงพื้นที่หนองคาย ใช้งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น มุ่งพัฒนาศักยภาพเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนระดับตำบล
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มอบหมายให้ คณะผู้ทรงคุณวุฒิ วช. นำโดย ศ.(พิเศษ) กาญจนา เงารังษี และคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่จังหวัดหนองคายเพื่อตรวจเยี่ยมและติดตามความก้าวหน้าโครงการวิจัยภายใต้โครงการ “การบริหารจัดการงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก (CBR) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประจำปี 2566” ที่ วช. ให้ทุนสนับสนุน ได้แก่ โครงการวิจัย เรื่อง “การพัฒนาศักยภาพเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนระดับตำบล จังหวัดหนองคาย สู่การเป็นผู้ประกอบการทางสังคม” โดยมี ดร.พิภพ หัสสา นักวิชาการอิสระ เป็นหัวหน้าโครงการฯ และโครงการวิจัย เรื่อง “การพัฒนาเครือข่ายการท่องเที่ยว โดยชุมชนตำบลด่านศรีสุข อำเภอโพธิ์ตาก จังหวัดหนองคาย ดำเนินการโดย นายอชิรพัฒน์ สิงห์ทรายขาว นายกองค์การบริหารส่วนตำบลด่านศรีสุข เพื่อพัฒนาศักยภาพเครือข่ายท่องเที่ยวโดยชุมชนระดับตำบลสู่ผู้ประกอบการทางสังคม ระหว่างวันที่ 15 – 17 ตุลาคม 2566 ณ อำเภอสังคม อำเภอศรีเชียงใหม่ และอำเภอโพธิ์ตาก จังหวัดหนองคาย
ศ.(พิเศษ) กาญจนา เงารังษี ประธานคณะผู้ทรงคุณวุฒิ วช. กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรมของประเทศมุ่งเน้นการได้ผลสำเร็จจากการวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาและแก้ปัญหาสำคัญของประเทศ ได้ให้ทุนสนับสนุนงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น หรือ CBR ก่อให้เกิดผลงานวิจัยที่ช่วยแก้ปัญหาชุมชนและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากทั้ง 4 ภาคของประเทศ การจัดกิจกรรมติดตามการดำเนินงานโครงการการบริหารจัดการงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยโครงการวิจัย เรื่อง “การพัฒนาศักยภาพเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนระดับตำบล จังหวัดหนองคาย สู่การเป็นผู้ประกอบการทางสังคม” และโครงการวิจัย เรื่อง "การพัฒนาเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลด่านศรีสุข อำเภอโพธิ์ตาก จังหวัดหนองคาย สู่การเป็นผู้ประกอบการทางสังคม" เป็นโครงการที่ตอบโจทย์การยกระดับเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างชัดเจน สร้างความร่วมมือความสามัคคีของคนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี
ดร.พิภพ หัสสา หัวหน้าโครงการวิจัย เรื่อง “การพัฒนาศักยภาพเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนระดับตำบล จังหวัดหนองคาย สู่การเป็นผู้ประกอบการทางสังคม” กล่าวว่า ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดหนองคาย ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัย จาก วช. ในการดำเนินโครงการวิจัยในพื้นที่จังหวัดหนองคายตั้งแต่ปี 2557 – 2564 แบ่งเป็นจำนวน 7 ชุดวิจัย รวมกว่า 28 โครงการ เริ่มมีการศึกษาวิจัยประเด็นการท่องเที่ยวโดยชุมชน เมื่อปี 2560 และดำเนินการวิจัยเรื่องการท่องเที่ยวครบทุกพื้นที่โครงการในปี 2561 โดยปัจจุบันมีพื้นที่เป้าหมายการวิจัย 4 เครือข่าย ได้แก่ 1) เครือข่ายตำบลบ้านหม้อ อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย 2) เครือข่ายตำบลผาตั้ง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย 3) เครือข่ายตำบลบ้านม่วง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย และ 4) เครือข่ายตำบลนางิ้ว อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย ซึ่งมีผู้ประกอบการท้องถิ่นจากหลากหลายสาขาอาชีพเข้าร่วมโครงการฯ อาทิ ผู้นำชุมชน จิตอาสาพิทักษ์ป่า กลุ่มสวนผลไม้ กลุ่มผ้าทอมือ กลุ่มบริการรถนำเที่ยว กลุ่มเรือโดยสาร กลุ่มที่พัก ร้านอาหาร รวมแล้วกว่า 272 คน โดยโครงการ “การพัฒนาศักยภาพเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนระดับตำบล จังหวัดหนองคาย สู่การเป็นผู้ประกอบการทางสังคม” มุ่งเป้าพัฒนาภายในตำบลตนเองให้เข้มแข็ง โดยใช้กระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น (CBR) ที่ว่า “การเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือ การลงมือด้วยตนเอง” การมีส่วนร่วมของนักวิจัยในชุมชนจึงเป็นสร้างความรู้ทักษะและนำไปพัฒนาการจัดการท่องเที่ยวในพื้นที่ตำบลตนเองให้มีการพัฒนาที่ยั่งยืน
นายอชิรพัฒน์ สิงห์ทรายขาว นายก อบต.ด่านศรีสุข หัวหน้าโครงการวิจัย เรื่อง “การพัฒนาเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลด่านศรีสุข อำเภอโพธิ์ตาก จังหวัดหนองคาย สู่ผู้ประกอบการทางสังคม” เปิดเผยว่า โครงการวิจัย เรื่อง “การพัฒนาเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลด่านศรีสุขสู่ผู้ประกอบการทางสังคม” มีเป้าหมายที่จะพัฒนาความรู้ ความสามารถของเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนให้มีทักษะในการบริหารจัดการทั้งระดับกลุ่มและระดับเครือข่ายตำบล การท่องเที่ยวในช่วงที่ผ่านมา ทางเครือข่ายตำบลมีการวิเคราะห์ตนเอง โดยจัดระดับความสามารถการบริหารจัดการกลุ่ม ผลที่ได้จากการดำเนินโครงการวิจัยดังกล่าว ทำให้ชุมชนมีความรู้เกี่ยวกับบริบทชุมชนของตนเอง ค้นพบศักยภาพด้านการเกษตร สินค้าและบริการ จำนวน 17 กลุ่ม เกิดเครือข่ายระดับตำบล คือ “คณะทำงานเครือข่ายท่องเที่ยวตำบลด่านศรีสุข” มีการพัฒนาพื้นที่และเส้นทางการท่องเที่ยว มีเครือข่ายหลัก ได้แก่ กลุ่มแปลงใหญ่ไม้ผล กลุ่มแพบางกอกน้อย กลุ่มดอกกระเจียวหวาน และกลุ่มกำลังพัฒนาสู่การท่องเที่ยว ในระดับกลุ่มมีความเข้มแข็งมากขึ้น มีแผนการทำงานที่ชัดเจน เกิดการคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานท้องถิ่น นอกจากนี้ องค์การบริหารส่วนตำบลด่านศรีสุข ได้บรรจุเป็นข้อบัญญัติแผนการท่องเที่ยว และเสนองบประมาณโครงสร้างพื้นที่ฐานด้านการท่องเที่ยว เกิดรายได้จากการท่องเที่ยว กระบวนการเรียนรู้การทำงานแบบมีส่วนร่วมดังกล่าวทำให้คนในชุมชนตำบลด่านศรีสุขมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น ทำให้ชุมชนเห็นคุณค่า หวงแหน อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรมที่ชุมชนมี ตลอดจนเกิดความสามัคคีของคนในชุมชน มีการกระจายรายได้ พึ่งพาเศรษฐกิจบนรากฐานทรัพยากรและวิถีชีวิตของตนเอง โดยเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลด่านศรีสุข มุ่งมั่นพัฒนาองค์ความรู้และความสามารถของเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนให้มีทักษะในการบริหารจัดการท่องเทียวสู่การเป็นผู้ประกอบการทางสังคม
ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เครือข่ายชุมชนท่องเที่ยวระดับตำบลมีความร่วมมือในการบริหารจัดการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ดีขึ้นตามลำดับ โดยในปี 2566 ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดหนองคายได้คัดเลือกพื้นที่วิจัยการดำเนินการท่องเที่ยวโดยชุมชน ได้แก่ พื้นที่ตำบลนางิ้ว และตำบลผาตั้ง อำเภอสังคม, ตำบลบ้านหม้อ อำเภอศรีเชียงใหม่ และตำบลด่านศรีสุข อำเภอโพธิ์ตาก โดยวิเคราะห์จาก 1) มีคณะทำงาน 2) มีการทำงานการท่องเที่ยวที่ต่อเนื่อง 3) ชุมชนมีความต้องการที่จะดำเนินงานต่อ ผลการวิจัยพบว่า ชุมชนมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวสูง มีความโดดเด่นทั้งทางด้านทุนทางธรรมชาติและวัฒนธรรม โดยทางด้านธรรมชาติมีภูเขาขนาดเล็ก ป่าไม้ น้ำตก และถ้ำ ส่วนด้านวัฒนธรรมมีภาษาไทหล่ม วิถีการทำนาน้ำเหมือง สวนไม้ผล (เงาะ ทุเรียน กล้วย) แปรรูปกล้วย ปลาจิ๊กโก๋ ไม้กวาดดอกหญ้า เครื่องจักสาน และเตาเผาโบราณผลิตปูนเคี้ยวหมาก ซึ่งโครงการ “การบริหารจัดการงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก (CBR) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประจำปี 2566” ที่ วช. ให้การสนับสนุนทุนวิจัย ได้มุ่งเน้นการสร้างเข้าใจและพัฒนาทักษะความสามารถของกลไกเครือข่ายในพื้นที่ตำบลในการจัดการท่องเที่ยว ภายใต้แนวคิด “ความเป็นเจ้าของ การให้คุณค่า และเคารพซึ่งกันและกัน”