"สมาคมผู้บริหารอาชีวะ ยื่นประธานกมธ.ผลักดันร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ หวังปฏิรูปการอาชีวศึกษา"
7 ธันวาคม 2565
นายทวีศักดิ์ คิ้วทอง นายกสมาคมผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย (สบอท.) กล่าวเปิดเผยว่าทางสมาคมฯ ได้เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.... ฉบับที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ณ ห้องประชุมสภาการศึกษา
โดยมีนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการให้เกียรติมาเป็นประธาน เมื่อวันศุกร์ที่ 2 ธันวาคม 2565 ณ ห้องประชุมสภาการศึกษา และเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2565 ทางสมาคมฯได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมกับสมัชชาเครือข่ายครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทย (สคคท.) ณ ห้องประชุม b1-2 รัฐสภา ซึ่งตนได้ยื่นหนังสือต่อนายตวง อันทะไชย ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.... และนายศุภชัย โพธิ์สุ เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎรไทยคนที่ 2 ซึ่งท่านอาสามาทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาภาคประชาชน เพื่อร่วมผลักดันร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่นี้ด้วย
นายทวีศักดิ์ กล่าวว่าตนต้องขอบคุณทางรัฐบาล สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้เปิดโอกาสให้มีการทบทวนร่างพรบ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้อีกครั้งก่อนที่จะนำเข้าที่ประชุมร่วมของรัฐสภาในเร็วๆนี้ สาระสำคัญที่นำมายื่นในวันนี้เพื่อต้องการให้ร่าง พรบ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นกฎหมายแม่ด้านการศึกษา เกี่ยวข้องกับระบบการจัดการศึกษาหลายภาคส่วน และยังวางหลักเกณฑ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายลูก ด้านการศึกษา ที่จะออกมาอีกประมาณ 13 ฉบับ เป็นกฎหมายด้านการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 258 แห่งรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เวลานี้ประชาชนทุกภาคส่วนมีความหวังให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการการศึกษาของประเทศมาก โดยเฉพาะด้าน อาชีวศึกษาซึ่งจะต้องผลิตกำลังคนมีทักษะฝีมือมีเจตคติที่ดีต่อในการทำงานเพื่อประโยชน์ต่อประชาชนและในการพัฒนาประเศ ร่าง พรบ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่นี้ จึงควรที่จะได้มีการเขียนกฎหมายในส่วนของการจัดการศึกษาด้านอาชีวศึกษาให้ดีมีความรอบคอบมากที่สุดซึ่งตนได้รับฟังความคิดเห็นในส่วนของผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวศึกษา ครู บุคลากรนักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง สถานประกอบการ ผู้มีส่วนได้เสียจากทุกภาคส่วนมีความเห็นที่สอดคล้องตรงกันว่าอยากจะเสนอเพิ่มเติมให้มีการบัญญัติในเรื่องของการอาชีวศึกษาซึ่งต้องออกเป็น "กฎหมายอาชีวะสั่งตัดโดยเฉพาะ" ทางสมาคมฯจึงขอยื่นเสนอให้มีการบัญญัติไว้ในกฎหมายฉบับนี้โดยเฉพาะในมาตราที่ 71 และ 72 หรือในมาตราใดมาตราหนึ่งในเรื่องของการจัดการอาชีวศึกษาไว้เป็นการเฉพาะเหมือนใน พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ฉบับปัจจุบันนี้ ซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา 20 โดยเสนอให้ออกเป็น พรบ.การอาชีวศึกษา ภายหลังจากที่กฎหมาย พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ผ่านรัฐสภาแล้ว
นายกสมาคมผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวะ กล่าวเพิ่มเติมว่าถ้าร่าง พรบ.บัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ผ่าน ระบบการศึกษาของประเทศน่าจะเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี เป็นประโยชน์หลายประการแน่นอน เพราะเท่าที่ได้ติดตามดูเนื้อหาในมาตราต่างๆก็มีจุดแข็งหลายประการ เช่น ลดอำนาจการบริหารที่ส่วนกลาง ลดอำนาจการบริหารราชการส่วนภูมิภาค ไปเพิ่มอำนาจที่เขตพื้นที่และสถานศึกษา ทำให้การแก้ปัญหาในพื้นที่และสถานศึกษาทำได้รวดเร็วส่งผลดีต่อนักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครองและสถานประกอบการ ต่อไปการบริหารราชการที่ส่วนกลางและส่วนภูมิภาคคงต้องกระจายอำนาจไปที่พื้นที่ทำให้สถานศึกษามีอำนาจมากขึ้น ยังให้สถานศึกษาที่พร้อมเป็นนิติบุคคล สถานศึกษามีคณะกรรมการบริหารสถานศึกษาที่เข้มแข็ง ที่ต้องจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติและตอบโจทย์การจัดการศึกษาในพื้นที่ มีกองทุนการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งถ้าดูในภาพรวมเป็นกฎหมายใหม่ที่มองไปถึงอนาคต แต่อาจจะมีบางมาตราที่อาจจะกระทบบุคลากรซึ่งอาจจะต้องมีการทบทวน และวางแผนระยะสั้นระยะยาวเพื่อรองรับการปฏิรูปการศึกษาในครั้งนี้ ซึ่งตนคิดว่าทางกระทรวงศึกษาธิการและรัฐบาลคงเตรียมความพร้อมไว้แล้ว นายทวีศักดิ์ กล่าว