Hot Widget

Header ADS
Type Here to Get Search Results !
Header ADS

วช.หนุนนักวิจัย มหิดล พัฒนาต้นแบบป้องกันปัญหาการข่มขืน และการล่วงละเมิด


สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หนุนทีมวิจัย ม.มหิดล พัฒนาต้นแบบการสร้างเครื่องมือป้องกันปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราในครอบครัว โรงเรียน และชุมชน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดคดีข่มขืนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี และช่วยลดปัญหาความรุนแรงในสังคมไทย เผย 4 เดือนแรกของปี 2565 มีเหยื่อโดนข่มขืนถึง 289 ราย

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ  กล่าวว่า  เนื่องจากความรุนแรงในสังคมไทยเป็นปัญหาระดับประเทศ อาทิ ปัญหาการทำร้ายร่างกายเด็กและสตรี ปัญหาการกระทำชำเราในครอบครัว โรงเรียน และชุมชน การลดความรุนแรงในครอบครัว การบรรเทาปัญหาต่างๆ ให้ลดลง จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายของงานวิจัย และการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ทางสังคมให้กับคนไทยได้อย่างมั่นคง  สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ  (วช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม   จึงได้สนับสนุนทุนการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2564  ให้กับโครงการ “ต้นแบบการสร้างเครื่องมือป้องกันปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราในครอบครัว โรงเรียน และชุมชน”   โดยมี “รศ.ดร.สุณีย์  กัลยะจิตร” เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการลดปัญหาความรุนแรงในสังคมไทย รวมถึงการศึกษาบทบัญญัติในคดีทางเพศ กฎหมายที่จะต้องมีการปรับปรุงเพิ่มเติมให้ทันต่อเหตุการณ์และยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย 

รศ.ดร.สุณีย์  กัลยะจิตร  อาจารย์ประจำหลักสูตรอาชญาวิทยา การบริหารงานยุติธรรมและสังคม คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของงานวิจัยว่า เนื่องจากเมื่อปี 2562 สภาผู้แทนราษฎรได้แต่งตั้งตนเองให้เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการข่มขืนกระทาชำเรา และการล่วงละเมิดทางเพศ อีกทั้งได้เป็นอนุกรรมาธิการเพื่อศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราอย่างเป็นระบบ จึงพบว่า ปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราเป็นภัยที่คุกคามความปลอดภัยของประชาชนมาเป็นระยะเวลายาวนาน และเป็นเหตุที่สะเทือนขวัญแก่ประชาชนในทุกเพศทุกวัย  

หากพิจารณาเชิงสถิติจากมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรีพบว่า ในช่วงเวลา 10 ปีนับตั้งแต่ พ.ศ. 2555-2564  ในแต่ละปีมีเหยื่อคดีข่มขืนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 35 ราย โดยมีอัตราเหยื่อเพิ่มขึ้น 2.5 เท่า เมื่อพิจารณาเหยื่อคดีข่มขืนในหนึ่งวันมีเหยื่ออย่างน้อย 2 ราย และใน 4 เดือนแรกของปี 2565 พบว่า มีเหยื่อข่มขืนมีจำนวนถึง 289 ราย หรือคิดเป็นหนึ่งวันมีเหยื่อที่ถูกข่มขืนอย่างน้อย 2.5 ราย ซึ่งมากกว่าสถิติในปี  2564 ซึ่งเมื่อพิจารณารายละเอียดเชิงลึก พบว่าผู้กระทำผิดได้แก่ คนรู้จัก ญาติ และพ่อเลี้ยง ความไม่ปลอดภัยจึงเกิดขึ้นจากคนในครอบครัว โรงเรียน และชุมชนเป็นหลัก และแม้กฎหมายไทยจะกำหนดความผิดทางอาญาให้มีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต แต่สถิติต่าง ๆ ก็ยังไม่ลดลง
“จากผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ ได้เน้นไปที่การแก้ไขผู้กระทำผิด การฟื้นฟูดูแลเหยื่อ การแก้ไขกฎหมายในบางมาตรา  แต่แนวทางในการป้องกันปัญหาอาจจะยังมีน้อย  ในฐานะที่เป็นนักวิจัยที่มีต้นทุนเดิมด้านอาชญาวิทยา  การศึกษาเชิงการป้องกันอาชญากรรมที่มีประสิทธิภาพนั้นต้องปิดโอกาสของผู้กระทำผิด และมีมาตรการการป้องกันโดยการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ ตัดช่องโอกาสต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัยของทุกคนในสังคม ดังนั้นจึงได้รวบรวมนักวิจัยที่มีความสนใจในประเด็นนี้ และขอข้อมูลจากนักวิชาการจากประเทศอังกฤษ รวมถึงแนวทางการป้องกันในต่างประเทศที่น่าสนใจและเป็นรูปธรรม เพื่อขอสนับสนุนทุนอุดหนุนการวิจัยจาก วช.ในระยะ 1 ปี ( 6 พ.ค.2564 - 5 พ.ค. 2565) ”

โดยแผนงานวิจัยดังกล่าวแยกออกเป็น 2 โครงการวิจัยย่อยคือ โครงการวิจัยย่อยที่ 1  การสร้างเครื่องมือป้องกันการปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราในครอบครัว โรงเรียน และชุมชน  และโครงการวิจัยย่อยที่ 2 ศึกษาเปรียบเทียบ และพัฒนากฎหมายการข่มขืนกระทำชำเราในประเทศไทย และเปรียบเทียบกฎหมายการข่มขืนกระทำชำในประเทศไทยและต่างประเทศ
 สำหรับขอบเขตการศึกษาโครงการวิจัยย่อยที่ 1 รศ.ดร.สุณีย์   กล่าวว่า เป็นการศึกษาเชิงปริมาณที่ได้กำหนดขอบเขตด้านกลุ่มเป้าหมายที่สอดคล้องกับปัญหา 3 กลุ่มคือ กลุ่มครอบครัว ได้แก่ พ่อแม่ ผู้ปกครอง กลุ่มโรงเรียนได้แก่ ครูอาจารย์ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น-ตอนปลาย  และกลุ่มชุมชน ได้แก่ ผู้นำชุมชน และประชาชนในชุมชน รวมทั้งสิ้น 2,420 ตัวอย่าง จากการคัดเลือกจังหวัดตัวแทนในภูมิภาครวม 24 จังหวัดที่มีจำนวนประชากรจำนวนมาก เป็นพื้นที่เศรษฐกิจและเป็นจังหวัดที่มีสถิติการข่มขืนกระทำชำเราจำนวนมาก  โดยใช้เครื่องมือในการป้องกันปัญหาการข่มขืนกระทำชำเรา เป็นการให้ความรู้ วิธีการ มาตรการ รูปแบบ แนวทางการปฏิบัติ  โดยผ่านสื่อวีดีทัศน์ แอปพลิเคชั่น และแผ่นพับความรู้ 
และได้นำข้อมูลที่ได้จากผลการศึกษาวิจัยมาสร้างเครื่องมือสำหรับทั้ง 3  กลุ่มเป้าหมายคือ เครื่องมือในการป้องกันปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราในครอบครัว โดยการสร้างความรู้ ความเข้าใจ ผ่านกิจกรรม  หรือโครงการให้กับครอบครัว  เพื่อให้พ่อแม่และผู้ปกครองในการเป็นแบบอย่างที่ดีและไม่มีพฤติกรรมที่สุ่มเสี่ยงกับการล่วงละเมิดทางเพศ การสอนให้ลูกปกป้องสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของตนเองและเคารพสิทธิผู้อื่น การสร้างบรรยากาศความไว้วางใจให้เด็กมีโอกาสได้พูดคุยปรึกษาปัญหาหรือขอคำแนะนำได้ทุกเรื่องโดยเฉพาะเรื่องเพศศึกษาที่เหมาะสม
     ขณะที่เครื่องมือในการป้องกันปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราในโรงเรียน  เน้นการมีส่วนร่วมของครู และนักเรียน เพื่อสอดส่องการมีพฤติกรรมลามกอนาจารหรือมีพฤติกรรมทางเพศไม่เหมาะสมของเพื่อนนักเรียน ครูอาจารย์ และบุคลากรในโรงเรียน    ซึ่งโรงเรียนควรเป็นสถานที่ปลอดภัย หากมีผู้กระทำผิดทางเพศ ควรกำหนดโทษอย่างชัดเจนจากผู้บังคับบัญชา และกำหนดวิธีการรับมือเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์เสี่ยง
    และเครื่องมือในการป้องกันปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราในชุมชน โดยประชาชนในชุมชนช่วยกันสอดส่องดูแลการทำกิจกรรมของบุตรหลานและสมาชิกในชุมชน เพื่อป้องกันการมั่วสุมทำกิจกรรมที่ไม่เหมาะสม การมีไฟฟ้าส่องสว่าง เพื่อลดจุดเปลี่ยวในชุมชน ลดพื้นที่เสี่ยงต่อการรวมกลุ่มมั่วสุมยาเสพติด อีกทั้งติดตั้งกล้อง CCTV ในชุมชนเพื่อยกระดับมาตรการการป้องกันอันตราย ทั้งนี้ ผู้นำชุมชนควรจัดให้มีการให้ความรู้เกี่ยวกับเพศศึกษาและปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้ถูกล่วงละเมิดทางเพศ การร่วมสร้างเครือข่ายครอบครัว โรงเรียน ชุมชน เพื่อป้องกันปัญหาการข่มขืนกระทำชำเรา และชุมชนควรจัดให้มีมาตรการสอดส่องผู้กระทำผิดทางเพศและผู้พ้นโทษคดีความผิดทางเพศที่เข้ามาอาศัยอยู่ในชุมชน เป็นต้น
     ส่วนโครงการย่อยที่ 2 เป็นการวิจัยเอกสาร การวิเคราะห์ สังเคราะห์ การพัฒนากฎหมายการข่มขืนกระทำชำเราในประเทศไทย และการเปรียบเทียบกฎหมายการข่มขืนกระทำชำเราในประเทศไทยและต่างประเทศทั้งสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และเครือรัฐออสเตรเลีย เนื่องจากที่ผ่านมาคดีที่เกี่ยวข้องกับปัญหาอาชญากรรมทางเพศพบผู้กระทำความผิดทางเพศเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าจะมีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดในหลายครั้ง  แต่พบว่าในปัจจุบันองค์ประกอบความผิดที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญายังไม่ครอบคลุมลักษณะการกระทำที่เป็นอาชญากรรมที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดทางเพศ
และเมื่อนำบทบัญญัติของแต่ละประเทศมาพิจารณาแล้วพบว่า ยังมีส่วนที่ประเทศไทยควรจะนำมาศึกษาและนำมาปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญาของในส่วนที่ยังเป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดทางเพศเพื่อให้ปัญหาอาชญากรรมทางเพศลดน้อยลง
นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาเครื่องมือในการป้องกันปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราในรูปแบบสื่อวีดิทัศน์และแอปพลิเคชั่น เช่น วิดีทัศน์ภาพรวมความปลอดภัยจากการข่มขืน   วีดิทัศน์แนวทางการป้องกันปัญหาการข่มขืนกระทำชำเรา  และแอพพลิเคชั่น “BeBrave”  เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการป้องกันปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราในครอบครัว โรงเรียน และชุมชน ให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐ เอกชน องค์กรต่าง ๆ รวมทั้งประชาชนทั่วไปที่เป็นผู้ที่เข้าใช้งาน และยังเป็นช่องทางในการติดต่อ หรือประสานข้อมูลที่เกี่ยวกับปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศและการข่มขืนกระทำชำเรา
ผู้วิจัยกล่าวอีกว่า  ในการสร้างเครื่องมือในการป้องกันปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราในครอบครัว โรงเรียน และชุมชน มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานที่ต้องช่วยออกนโยบายสนับสนุน ทีมวิจัยจึงได้นำเสนอข้อเสนอแนะจากงานวิจัยผ่านกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ  กระทรวงศึกษาธิการ  กระทรวงยุติธรรม  และ กระทรวงมหาดไทยรวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในทุกระดับ
     อย่างไรก็ดี การต่อยอดหรือขยายผลโครงการวิจัยนี้ไปยังครอบครัว โรงเรียน และชุมชนในอนาคต ถือว่าเป็นส่วนสำคัญ  ซึ่งต้องทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่มีหน้าที่หลักในสังกัดภาครัฐ และภาคประชาสังคมที่มีความพร้อมในการเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องเพศอย่างจริงจัง  ทั้งนี้โครงการวิจัยจะมีการพัฒนา e-learning ที่เกี่ยวข้องกับแนวทางการป้องกัน เพื่อให้หน่วยงานนำไปปรับใช้ รวมทั้งหาพื้นที่นำร่องการดำเนินการแนวทางการป้องกันที่มีประสิทธิภาพต่อไป.