Hot Widget

Header ADS
Type Here to Get Search Results !
Header ADS

วช.จับมือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สัมมนาวิชาการออนไลน์ เทรนด์ใหม่ในการบริหารจัดการลุ่มน้ำและบริหารจัดการน้ำชุมชน


    ภายใต้แผนงานวิจัยเข็มมุ่งด้านการบริหารจัดการน้ำ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ได้จัดบรรยายพิเศษเรื่อง การสัมมนาทางวิชาการออนไลน์ “เทรนด์ใหม่ในการบริหารจัดการลุ่มน้ำและบริหารจัดการน้ำชุมชน"  (New Trends in Basin & Community Water Management) โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากในประเทศและต่างประเทศมาร่วมให้ความคิดเห็น

              Prof. Dr.Ming Daw SU จาก National Taiwan University  ได้กล่าวถึงแนวทางในการบริหารจัดการน้ำระดับชุมชนในประเทศไต้หวัน ว่า การบริหารจัดการน้ำชุมชนของไต้หวัันอยู่ภายใต้กลุ่มผู้ใช้น้ำ (สมาคม) ซึ่งเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นโดยมีกฎหมายรองรับ มีโครงสร้างองค์กร และระเบียบที่ชัดเจน มีอาคารสำนักงาน มีเงินกองทุนที่ใช้ดำเนินงานเป็นของตนเอง ทุนส่วนหนึ่งมาจากเงินที่เรียกเก็บจากกสมาชิก อีกส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลกลาง  มีอิสระในการดำเนินงาน เช่น การตั้งกลุ่มย่อย  การแบ่งเขตพื้นที่ การเลือกตั้งกรรมการกลุ่มเพื่อให้สมาชิกได้ดูและกันเองได้ ทำงานเชื่อมโยงกับหน่วยงานด้านการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัย และหน่วยงานอื่นๆ  เพื่อนำความรู้ด้านต่างๆ มาเผยแพร่ให้กับสมาชิก ในประเทศไต้หวันการจัดการน้ำในภาพรวมจะเป็นหน้าที่ของภาครัฐ  ส่วนในระดับพื้นที่ เช่น ในพื้นที่ขนาด 5,000 ไร่ หรือพื้นที่ 500 ไร่  กลุ่มผู้ใช้น้ำจะเข้ามาดูและบริหารจัดการน้ำให้แก่สมาชิกในชุมชน และทุก 10 ปี ภาครัฐและกลุ่มผู้ใช้น้ำมีเป้าหมายร่วมกันที่จะพัฒนาการดำเนินงานขององค์กรผู้ใช้น้ำ เช่น การให้คำแนะเกษตรกรว่าควรจะปรับเปลี่ยนไปเพาะปลูกพืชชนิดใดที่มีตลาดรองรับและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร จากเดิมที่เคยปลูกข้าว แต่ปัจจุบันเกษตรกรเริ่มหันไปปลูกพืชอย่างอื่นบ้างแล้ว ปัจจุบันองค์กรผู้ใช้น้ำของไต้หวันเริ่มหันมาทำเรื่องการตลาดสินค้าเกษตรอีกด้วย แต่ภาคการเกษตรของไต้หวันก็กำลังประสบปัญหาเหมือนทุกประเทศ เพราะเกษตรกรมีอายุสูงขึ้นเรื่อยๆ จึงมีความจำเป็นต้องปรับตัวโดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยสนับสนุน เช่น การใช้เทคโนโลยีโรงเรือน  การใช้เครื่องจักรกลการเกษตร

    คุณชิษณุวัฒน์ ศรีมณีขำ ผู้ก่อตั้งบริษัทสร้างสรรค์ปัญญา จำกัด และดร.จิตราภรณ์ สมยานนทนากุล มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้บรรยายถึงพัฒนาการจัดการน้ำระดับชุมชนที่ผ่านมาโดยใช้กระบวนการวิจัยท้องถิ่น โดยเน้นให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการวิจัย ตั้งแต่การเริ่มคิด การตั้งคำถาม การวางแผน และการค้นหาคำตอบอย่างเป็นระบบ  ชุมชนจึงเกิดความมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ  เป็นเจ้าของทรัพยากรน้ำร่วมกัน  สามารถแก้ไขปัญหา สามารถร่วมกันดูแลคนในชุมชนได้อย่างยั่งยืน  มีการนำแนวทางการวิจัยชุมชนไปดำเนินการประสบผลสำเร็จแล้วในหลายพื้นที่กว่า ๓๓ ตำบล เช่น จังหวัดน่าน  อุบลราชธานี สตูล และราชบุรี  นอกจากนี้ยังนำแนวทางการวิจัยชุมชนไปใช้ดำเนินงานใน “โครงการวิจัยแนวทางการพัฒนากลุ่มองค์กรผู้ใช้น้ำ” ที่ดำเนินการในพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง ที่จังหวัดกำแพงเพชร จำนวน 20 กลุ่ม ผลปรากฏว่าสามารถยกกระดับกลุ่มผู้ใช้น้ำเข้มแข็งและสามารถดูแลตัวเองได้  หัวใจของความสำเร็จในการบริหารจัดการน้ำของชุมชนจึงอยู่ที่กระบวนการพัฒนากลุ่มและการพัฒนาคน

    Prof. Dr.Seigo NASU,  President, None Profit Organization, Institute for Social Contribution ประเทศญี่ปุ่น ได้บรรยายถึงแนวทางในการบริหารจัดการลุ่มน้ำภายใต้ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพบรรยากาศแบบสุดโต่ง ว่า ผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้ญี่ปุ่นต้องพัฒนาระบบสนับสนุนการตัดสินใจมาช่วยในการบริหารจัดการน้ำ  เริ่มจากการวิเคราะห์ภูมิอากาศโลก มาวิเคราะห์สภาพทางอุทกวิทยาและการจัดการน้ำ รวมถึงการสร้างแบบจำลองการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคม และมีการปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบองค์กรบริหารจัดการน้ำ และหน่วยงานในท้องถิ่น เพื่อรองรับผลกระทบที่รุนแรงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งในเรื่องของความแห้งแล้งที่รุนแรง และปริมาณน้ำฝนที่มากขึ้น  ดังนั้น จึงต้องมีระบบการพยากรณ์อากาศที่แม่นยำ รวดเร็ว เพื่อสร้างระบบเตือนภัยให้กับประชาชนได้อย่างรวดเร็ว  การขยายระบบสนับสนุนเพื่อรองรับเมื่อเกิดภัยพิบัติ เช่น การขยายบ้านพักชั่วคราวให้เพียงพอ ส่วนเรื่องของโครงสร้าง เช่น เขื่อน อ่างเก็บน้ำ  ก็ขยายขีดความสามารถเพื่อให้รองรับน้ำเพิ่มขึ้นได้อีก 1.5 – 2 เท่า

    ผศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ สุทธินนท์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สภาวะโลกร้อนได้ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์น้ำในประเทศไทยในระดับที่รุนแรง  สร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจและสังคมมหาศาล   โดยเฉพาะในปีที่ผ่านมาก็ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ดังนั้น จึงจำเป็นต้องลดผลกระทบที่เกิดจากภัยแล้ง-อุทกภัยให้ได้มากที่สุด  จึงได้มีการรวบรวมข้อมูลทางสถิติ ผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้นในรูปแบบของจำนวนเงิน ที่เกิดขึ้นจากภัยแล้งและอุทกภัย แล้วนำมาจัดทำเป็นแผนที่ความเสี่ยงรายพื้นที่  แผนที่นี้จะช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถออกแบบการจัดการความเสี่ยงได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น  ดังนั้น ควรนำงานวิจัยที่มี และนำแผนที่ความเสี่ยงไปประยุกต์ใช้กับการบริหารจัดการลุ่มน้ำ เพื่อใช้ในการวางแผนและดำเนินงาน ลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพบรรยากาศแบบสุดโต่ง