‘พล.ต.อ.อดุลย์’ ปธ.กมธ.แรงงาน เปิดเวทีสัมมนา ระดมความเห็นทุกภาคส่วน ตั้ง รพ.ประกันสังคมและธนาคาร เพื่อผู้ใช้แรงงาน
วันที่ 23 มกราคม 2565 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภาเป็นประธานกล่าวเปิดโครงการสัมมนาวิชาการ เรื่อง “โรงพยาบาลประกันสังคมและธนาคารแรงงาน” ซึ่งจัดโดย คณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย และเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) ณ ห้องเพชรชมพู ชั้น 3 โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร โดยมี นายณรงค์ รัตนานุกูล เลขานุการคณะกรรมาธิการการแรงงานในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการด้านการประกันสังคม และประธานคณะทำงานเพื่อศึกษาแนวทางการจัดทำประมวลกฎหมายแรงงานและศึกษาแนวทางการจัดตั้งธนาคารแรงงาน กล่าวรายงาน นายมนัส โกศล คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย (สพท.) นายสุรชัย กำพลานนท์วัฒน์ อดีตรองกรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย พล.ต.ท.นพ.ธนา ธุระเจน กรรมการการแพทย์ กองทุนประกันสังคม และประธานอนุกรรมการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งโรงพยาบาลประกันสังคม เป็นวิทยากรร่วมเวทีการสัมมนา โดยถ่ายทอดสดการสัมมนาผ่าน Facebook Live วุฒิสภา และศูนย์ประสานงานรับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ด้านแรงงาน
พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า จากปัญหาภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจของโลก ภาคธุรกิจ การท่องเที่ยวการบริการ การส่งออกลดลง ภาคเอกชน ไม่กล้าลงทุนทำให้หยุดการจ้างงานใหม่เพื่อควบคุมต้นทุน สถานประกอบการจำนวนมากกำลังจะปิดตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด- 19 ส่งผลกระทบต่อนายจ้าง สถานประกอบการ ทำให้ไม่มีเงินจ่ายค่าจ้าง คนงานถูกเลิกจ้าง ทำให้เกิดปัญหาการว่างงานเพิ่มขึ้น แรงงานมีความเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้างจำนวน ไม่น้อยกว่า 8.4 ล้านคน ทั้งที่อยู่ในระบบและนอกระบบ ซึ่งแรงงานที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่เป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ประกอบด้วย ผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11.06 ล้านคน ผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 1.94 ล้านคน ผู้ประกันตนมาตรา 40 จำนวน 10.56 ล้านคน
พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวต่อว่า คณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย (สพท.) และเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) จึงได้ติดตามมาตรการการช่วยเหลือจากภาครัฐในสถานการณ์ดังกล่าว เช่น มาตรการจ่ายเงินชดเชยการว่างงานแก่ผู้ประกันตน มาตรการการสนับสนุนค่าใช้จ่ายบริการทางการแพทย์ในสถานพยาบาลในโครงการประกันสังคม พบว่า ผู้ประกันตนจำนวนมากยังมีการกู้ยืมเงินเพื่อบรรเทาปัญหาค่าครองชีพและค่าใช้จ่ายในครอบครัว โดยส่วนใหญ่ผู้ประกันตนไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนในระบบเนื่องจากขาดคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่เข้มงวดของสถานบันการเงินต่าง ๆ จึงหันไปกู้หนี้นอกระบบที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง ในส่วนการเข้ารับบริการทางการแพทย์ของผู้ประกันตนมีข้อจำกัดเนื่องจากปัจจุบันสถานพยาบาลหลักและสถานพยาบาลเครือข่ายของประกันสังคม มีจำนวนไม่เพียงพอสำหรับผู้ประกันตน ปัจจุบันมีสถานพยาบาลหลัก 245 แห่ง และสถานพยาบาลเครือข่าย 2,243 แห่ง อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ประกันตนกรณีติดเชื้อโควิด-19 ในระยะที่ผ่านสำนักงานประกันสังคมต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก
“การสัมมนาวิชาการในครั้งนี้ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อรณรงค์และให้ความรู้เกี่ยวกับ โรงพยาบาลประกันสังคมและธนาคารแรงงาน พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ตลอดจนเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาระบบประกันสังคมของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น” พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวในท้ายสุด
สำหรับการสัมมนาดังกล่าว มีตัวแทนผู้เข้าร่วม จำนวน 50 คน และสัมมนาผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Online) อาทิ คณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ ที่ปรึกษา ผู้ชำนาญการ นักวิชาการ และเลขานุการประจำคณะกรรมาธิการ คณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปประเทศด้านแรงงานคณะอนุกรรมาธิการด้านการจัดหางานและพัฒนาฝีมือแรงงาน คณะอนุกรรมาธิการด้านการสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน คณะอนุกรรมาธิการด้านการประกันสังคม คณะทำงานเพื่อศึกษาแนวทางการจัดทำประมวลกฎหมายแรงงานและศึกษาแนวทางการจัดตั้งธนาคารแรงงาน คณะทำงานศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาแรงงานของประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ธนาคารแห่งประเทศไทย องค์กรนายจ้าง ลูกจ้าง สหภาพแรงงาน แรงงานนอกระบบ สถาบันการศึกษา บอร์ดประกันสังคม นักกฎหมายและนักวิชาการ เป็นต้น
@PR.MOL (Team News) 🕊
#สมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย (สภท.56ปี)
#ธวัชชัย เฟื่องอนันต์ รายงาน