ที่สนามกอล์ฟแหลมฉบัง อินเตอร์เนชั่นแนล คันทรีคลับ จังหวัดชลบุรี สมาคมผู้บริหารสนามกอล์ฟภาคตะวันออก (EGA Thailand) ร่วมกับ, มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานเสวนาเรื่อง "การยกระดับโซ่อุปทานการท่องเที่ยวเชิงกอล์ฟของไทย" เพื่อยกระดับกีฬากอล์ฟ และการท่องเที่ยว ซึ่งจะก่อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ หลังผ่านพ้นวิกฤตการณ์โรคโควิด 19 ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ (สกสว.)
โดยได้รับเกียรติจากตัวแทนสมาคมผู้บริหารสนามกอล์ฟภาคตะวันออก, ตัวแทนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, ภาคเอกชนกลุ่มบริษัท สปอร์ต แมนเนจเม้นท์กรุ๊ป จำกัด
ดร.รัชพงษ์ กลิ่นศรีสุข ที่ปรึกษาโครงการวิจัยมหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในผู้เข้าร่วมเสวนา เปิดเผยว่าทิศทางและแนวทางการยกระดับความสามารถทางการแข่งขันอุตสาหกรรมกอล์ฟของประเทศไทยในอนาคต ควรจะใช้รูปแบบ "Coopetition" ซึ่งเป็นลักษณะการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสนามกอล์ฟ และระหว่างผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจและความสามารถในการแข่งขันร่วมกัน
นอกจากนั้นควรมีการพัฒนาระบบแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงข้อมูลการท่องเที่ยวเชิงกอล์ฟทั้งระบบเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องสามารถใช้เพื่อวางแผนยุทธศาสตร์นำไปสู่ข้อมูลสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมกอล์ฟของประเทศไทยให้เกิดความแข็งแกร่งและเติบโตร่วมกัน
ทั้งนี้จากการประเมินทางเลือกและการตัดสินใจซื้อของนักกอล์ฟที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย สามารถแบ่งกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงกอล์ฟได้ 7 กลุ่ม ได้แก่ Passive Golfer 2, Lifeful Golfer, Crazy Golfer, True Leisure Golfer, Business Golfer, Corporate Tournament Golfer และ Practice for Tournament Golfer ซึ่งพบว่า มี 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม True Leisure Golfer กลุ่ม Business Golfer และ กลุ่ม Tournament Golfer เป็นกลุ่มที่ใช้จ่ายสูง ยังเดินทางเข้ามายังประเทศไทยเป็นจำนวนน้อย เนื่องจากประเทศไทยยังไม่สามารถรองรับพฤติกรรมการท่องเที่ยวของกลุ่มคุณภาพสูงเหล่านี้ได้ดี ทั้งที่จริงๆ แล้ว ประเทศไทยมีองค์ประกอบการท่องเที่ยวที่ครบครัน แต่ยังขาดการจัดการที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งหมายถึงยังไม่สามารถเชื่อมโยงความร่วมมือและกิจกรรมต่างๆ ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ทั้งตลอดโซ่อุปทาน
เบื้องต้นผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล จะได้เสนอแนวทางการยกระดับโซ่อุปทานการท่องเที่ยวเชิงกอล์ฟของไทย คือ การสร้างความร่วมมือของผู้ที่เกี่ยวข้อง, การจัดทำการตลาด, การวิเคราะห์ข้อมูลของลูกค้าเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการบริการให้เกิดการตัดสินใจเลือกเดินทางมายังประเทศไทยและสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับนักท่องเที่ยวเชิงกอล์ฟ โดยจะกำหนดเป้าหมายผลักดันกีฬากอล์ฟเป็นอุตสาหกรรม ไม่ใช่เพียงบริบทการท่องเที่ยว เป็นการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กอล์ฟของประเทศในทุกภาคีให้ไปในทิศทางเดียวกัน และสนับสนุนการเกิดระบบนิเวศทางธุรกิจ พร้อมยกระดับกีฬากอล์ฟ รวมถึงการท่องเที่ยวในโอกาสต่อไป