Hot Widget

Header ADS
Type Here to Get Search Results !
Header ADS

แพะใต้มีเฮ วช. ลงพื้นที่ จ.สงขลา หนุนวิจัยเลี้ยงแพะ ม.อ.ครบวงจร บุกเบิกผู้เลี้ยงรายใหม่ ต่อยอดเชิงพาณิชย์


วช. ลงพื้นที่ จ.สงขลา สนับสนุนแผนงานวิจัย พัฒนา และขับเคลื่อนการเลี้ยงแพะของภาคใต้ ปีที่ 1 (พ.ศ. 2563 – 2564) ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รุกสร้างมาตรฐาน GMP HALAL เสริมความมั่นคงอาชีพให้เกษตรกร พร้อมบุกเบิกผู้เลี้ยงแพะรายใหม่ในพื้นที่โดยรวมกว่า 200 ราย กระตุ้นบริโภคทั้งในและต่างประเทศ

วันที่ 22 ธันวาคม 2564 ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จ.สงขลา : สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นำโดย รศ.ดร.สุชน ตั้งทวีวิพัฒน์ ประธานคณะทำงานดำเนินการขับเคลื่อนการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศด้านสัตว์เศรษฐกิจ : ยกระดับเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ และคณะทำงานฯ ลงพื้นที่ ตรวจเยี่ยมและสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมการวิจัย ภายใต้แผนงานวิจัย พัฒนา และขับเคลื่อนการเลี้ยงแพะภาคใต้ พ.ศ. 2563- 2565 ของคณะนักวิจัย คณะทรัพยากรธรรมชาติ แห่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คาดการณ์งานวิจัยสามารถตอบโจทย์ปัญหาการเลี้ยงแพะภาคใต้ได้ ด้วยองค์ความรู้ด้านรูปแบบการจัดการการเลี้ยงแพะ ระบบอาหาร การปรับปรุงและการผสมพันธุ์ รวมทั้ง การจัดการโรคในแพะ “เมลิออยโดสิส” บุกเบิกผู้เลี้ยงรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 200 ราย เพื่อบรรเทาปัญหาการว่างงาน จากสถานการณ์โรคโควิด-19 พร้อมกระตุ้นการบริโภคแพะในภาคใต้เพิ่มมากขึ้น โดยเร่งขยายประชากรแพะในพื้นที่มากกว่า 2,000 ตัว เพื่อลดการนำเข้าแพะจากภูมิภาคอื่น และเพิ่มโอกาสการส่งออกแพะไปต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช.ในฐานะหน่วยงานบริหารทุนวิจัย ซึ่งได้สนับสนุนแผนงานวิจัยในครั้งนี้ เชื่อว่าจะช่วยตอบโจทย์ปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงแพะในภาคใต้ได้ ช่วยให้เกษตรกรผู้เลี้ยงแพะได้รับความรู้จากโครงการวิจัย ที่ครอบคลุมการพัฒนาทั้งด้านจัดการระบบเลี้ยง ระบบอาหาร เกิดการพัฒนาสูตรอาหารที่เหมาะสมกับแพะโดยใช้ผลพลอยได้ทางการเกษตร อันเป็นการลดต้นทุน การปรับปรุงและผสมพันธุ์ เพื่อให้เกษตรกรมีพันธุ์แพะที่ดี และการจัดการเรื่องโรคในแพะ อีกทั้ง การส่งเสริมให้เกิดผลิตภัณฑ์ อาทิ เนื้อแพะ นมแพะ น้ำหอมจากขนแพะ ซึ่ง วช. และหน่วยงานมหาวิทยาลัยชั้นนำของภาคใต้ ได้ปักหมุดหมายการยกระดับเศรษฐกิจภาคใต้ด้วยวิจัยและนวัตกรรมมาระยะหนึ่งแล้ว ตั้งเป้าหมายทั้งด้านผลผลิต อาทิ องค์ความรู้พร้อมใช้ การสนับสนุนระบบ IT  และการสร้างนักวิจัยชุมชน ด้านผลลัพธ์ ในการเกิดต้นแบบชุมชนเข้มแข็ง หรือ Role Model และด้านผลกระทบ คือ ความคุ้มค่าเชิงเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและสังคม เช่นเดียวกับ ผลงานการวิจัยเพื่อยกระดับเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะในครั้งนี้ ที่จะช่วยหนุนเสริมให้เกิดการยกระดับเศรษฐกิจภาคใต้และประเทศได้อย่างมั่นคงต่อไป

ผศ.ดร.ไชยวรรณ วัฒนจันทร์ คณบดีคณะทรัพยากรธรรมชาติ ม.อ.ในฐานะผู้อำนวยการชุดโครงการวิจัยฯ เปิดเผยว่า แพะนับว่าเป็นสัตว์เศรษฐกิจทางเลือกของเกษตรกร เป็นส่วนหนึ่งในศาสนาและวัฒนธรรมของคนในภาคใต้ แต่ปัจจุบันการบริโภคไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มผู้นับถือศาสนาอิสลามอีกต่อไป หลายพื้นที่เปิดรับและต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์จากแพะมากขึ้น งานวิจัยได้ตอบโจทย์ปัญหาอุตสาหกรรมแพะที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน ได้แก่ แพะที่เลี้ยงมีจำนวนไม่เพียงพอ ขาดการรับรองคุณภาพ เกษตรกรใช้วิธีการการเลี้ยงแบบดั้งเดิม ขาดข้อมูลทางการตลาดและการประยุกต์นำผลพลอยได้ทางการเกษตรมาใช้ยังมีน้อย อีกทั้งการเผชิญกับโรคที่ติดจากแพะสู่คน คือ โรคเมลิออยโดสิส การขาดพันธุ์แพะพื้นฐานที่เหมาะสมกับผู้เลี้ยงรายย่อย ซึ่งจำเป็นต้องใช้ความรู้และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มศักยภาพการเลี้ยงและขยายพันธุ์ กระทบไปยังการแปรรูปผลิตภัณฑ์น้ำนมแพะที่ไม่ได้มาตรฐานเป็นที่น่าพอใจ นอกจากนี้ การส่งเสริมเฉพาะด้านการเลี้ยงแพะเพียงอย่างเดียว ยังไม่ครอบคลุมต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมแพะภาคใต้

อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.สุชน ตั้งทวีวิพัฒน์ ประธานคณะทำงานด้านสัตว์เศรษฐกิจ วช. กล่าวเสริมว่า ในภาพรวมของสัตว์เศรษฐกิจของประเทศ ตามมติคณะรัฐบาล ชี้ให้เห็นสัตว์เศรษฐกิจสำคัญ 5 ชนิด คือ ปูม้า จิ้งหรีด ปลาสวยงาม ไก่พื้นเมืองและลูกผสม และแพะ วช.ได้รับภารกิจเพื่อส่งเสริมและขับเคลื่อนการเลี้ยงแพะมูลค่าสูงให้มีมากขึ้น โดยแผนงาน พัฒนา และขับเคลื่อนการเลี้ยงแพะภาคใต้ ของ ม.อ.ในครั้งนี้ ได้ดำเนินงานให้เห็นตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ วช.มองว่าจะเกิดผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจ ให้เกิดจำนวนแพะเพิ่มขึ้นกว่า 400,000 ตัว คิดเป็น 40% ในภาคใต้ โดยเกษตรกรกว่า 75%ของประเทศอยู่ที่ภาคใต้ ตั้งเป้าการสร้างมูลค่าการซื้อขายให้ได้ราว 900 ล้านบาท และให้เกษตรกรได้รับองค์ความรู้กว่า 5,000 ราย

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้สนับสนุนงบประมาณการวิจัย เพื่อตอบโจทย์ และขับเคลื่อนการเลี้ยงแพะภาคใต้ให้เป็นที่ยอมรับ เป็นประโยชน์  และช่วยกระตุ้นการบริโภคผลิตภัณฑ์จากแพะเพิ่มมากขึ้น ดำเนินการภายใต้ 7 โครงการ คือ การสำรวจศักยภาพทางการตลาดและการจัดการห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมแพะในภาคใต้ การสำรวจการเลี้ยงแพะนมและการผลิตนมแพะของเกษตรกรภาคใต้ตอนล่าง การพัฒนานวัตกรรมอาหารผสมสำเร็จจากเศษเหลือทิ้งทางการเกษตรและอุตสาหกรรม การค้นหาจีโนไทป์เครื่องหมายโมเลกุลสนิปแบบทั่วทั้งจีโนมด้วยเทคโนโลยี Genototyping-by-sequencing (GBS) เพื่อจำแนกอัตลักษณ์จำเพาะ และปรับปรุงพันธุกรรมแพะพันธุ์ “ทรัพย์ ม.อ.1” เป็นแพะลูกผสมที่ทนทานต่อโรคและสภาพแวดล้อม จึงเหมาะสมกับเกษตรกรรายย่อย โดยผสมพันธุ์ระหว่างแพะพื้นเมือง และแพะแองโกลนูเบียนพันธุ์แท้ การเพิ่มประสิทธิภาพในการสืบพันธุ์แพะด้วยการใช้โปรแกรมฮอร์โมน ในการผลิตน้ำเชื้อแช่แข็ง ผสมเทียมโดยวิธีลาพาโลสโคป ให้แพะกำเนิดลูกแฝดมากขึ้น นับเป็นการขยายจำนวนประชากรแพะในพื้นที่ได้ ให้ได้อย่างน้อย 2,000 ตัว ภายในปี 2565 ช่วยลดการนำเข้าแพะจากภูมิภาคอื่น ๆ และเพิ่มโอกาสการส่งออกแพะไปประเทศเพื่อนบ้านได้ การเตรียมพัฒนาชุดทดสอบเพื่อวิเคราะห์โรคเมลิออยโดสิสในแพะ

นอกจากนี้ ได้พัฒาโรงงานปฏิบัติการวิทยาศาสตร์เนื้อสัตว์ ตามมาตรฐาน GMP และ HALAL เป็น Model การเรียนการสอนแก่นักศึกษา และผู้สนใจ ที่แรกของภาคใต้ ภายใต้มาตรฐานข้อตกลงของกรมปศุสัตว์ สามารถช่วยเหลือเกษตรกรที่ยังไม่มีความสามารถในการแปรสภาพแพะได้ พร้อมมีการจ้างงานคนในพื้นที่ควบคู่กันไป โดยส่วนหนึ่ง ได้รับทุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ในการพัฒนาระบบน้ำ เพื่อใช้ในระบบฯ รวมทั้ง การจัดทำโรงงานต้นแบบแปรรูปน้ำนม GMP และศูนย์บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำนมแพะดิบในภาคใต้ ให้เกษตรกรใช้ประโยชน์ต่อไป