Hot Widget

Header ADS
Type Here to Get Search Results !
Header ADS

เที่ยวพิจิตรพิสมัย เมืองเล็ก แต่น่ารัก แบบเต็มอิ่มสัมผัสแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์


การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานนครสวรรค์ นำโดยนางสาวสิริพร ไกรสุวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักงาน ททท. สำนักงานนครสวรรค์ ที่นำสื่อสื่อมวลชนจากกรุงเทพมหานครและนครสวรรค์สำรวจแหล่งท่องเที่ยวจังหวัดพิจิตร เพื่อประชาสัมพันธ์ “โครงการพิจิตรพิสมัย” เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดพิจิตร ซึ่งเป็นนโยบายอันดับหนึ่ง และพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวภายใต้มาตรการด้านสาธารณสุข
พวกเราเดินทางท่องเที่ยวไปกราบสักการะ “หลวงพ่อเพชร” พระพุทธรูปคูบ้านคู่เมืองที่วัดท่าหลวง อ.เมือง เป็นที่แรกเพื่อความเป็นสิริมงคล หลวงพ่อเพชรเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยสมัยเชียงแสน หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ พุทธลักษณะงดงามมาก ตามด้วยการสักการะศาลหลักเมือง ที่สร้างขึ้นในสมัยพระยาโคตรบอง ประมาณปี พ.ศ. 1601 โดยอาคารศาลหลักเมืองจะแบ่งออกเป็น 2 ชั้น คือ ด้านบนจะเป็นที่ตั้งของศาลหลักเมือง เสาหลักเมืองทำจากไม้ชัยพฤกษ์ ยอดเสาทำจากไม้สักแกะสลักเป็นรูปพระพรหมสี่หน้า โคนเสาหลักเมืองทั้งสี่ทิศ แกะสลัก คำว่า " เมตตา กรุณา มุฑิตา อุเบกขา"  ฐานรองรับเสาหลักเมืองเป็นไม้สักแกะสลักเป็นรูปบัวคว่ำ-บัวหงาย ลงรักปิดทอง  ที่ห้องด้านล่างเป็นที่ประดิษฐานรูปปั้นของ "พระยาโครตบองเทวราช" หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "พ่อปู่หลักเมือง" 
จากนั้นก็เดินทางไปชมวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมที่ย่านเก่าวังกรด ต.วังกรด อ.เมือง โดยมีนายไตรสิทธิ์ เหรียญดำรงพร นายกเทศมนตรีตำบลวังกรด นำชมความสวยงามของสถาปัตยกรรมเรือนแถวไม้ บ้านเก่าแก่ซึ่งคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์เฉพาะ บอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายให้แก่ผู้มาเยือนได้เป็นอย่างดี ที่นี่ยังมี “บ้านหลวงประเทืองคดี” เป็นอาคารโบราณของหลวงประเทืองคดีเป็นอดีตข้าราชการกระทรวงยุติธรรมที่ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของตลาด นับเป็นอาคาร “ตึก” หลังแรกในชุมชนตลาดวังกรด ปัจจุบันจัดแสดงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์
หลังชมความย่านเก่าแล้วก็ไปชมด้านท่องเที่ยวเชิงเกษตรกันบ้างที่สวนเกษตรวังทับไทร อ.สากเหล็ก แหล่งปลูกมะม่วงส่งออกที่สำคัญของจังหวัดพิจิตร นั่นคือมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง เพื่อส่งขายตลาดญี่ปุ่นและสิงคโปร์ ที่นี่ยังปลูกมะม่วงพันธุ์ฟ้าลั่น มะม่วงเขียวเสวย ปัจจุบันกลุ่มผู้ปลูกมะม่วงวังทับไทร มีพื้นที่ปลูกมะม่วง ประมาณ 20,000 ไร่ เมื่อรวมกับแหล่งปลูกมะม่วงในพื้นที่ใกล้เคียง อ.สากเหล็ก คือ จังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดเพชรบูรณ์ ทำให้โซนนี้กลายเป็นพื้นที่ปลูกมะม่วงแหล่งใหญ่ของประเทศไทย ในวันนี้มีผลผลิตขั้นต่ำเฉลี่ยไร่ละ 1 ตัน หรือประมาณปีละ 200,000 ตัน 
หลังทานมะม่วงกันแล้ว ก็เดินทางต่อไปที่วัดทับคล้อ (สวนโพธิสัตว์) ต.ทับคล้อ อ.ทับคล้อ เป็นสำนักวิปัสสนาแห่งแรกของ จ.พิจิตร เหมาะสำหรับปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เงียบสงบร่มเย็นท่ามกลางธรรมชาติที่สวยงาม พระครูวิชาญ สังฆกิจ เจ้าอาวาสฯ ได้นำพวกเรากราบสรีระสังขารของพระครูวิสุทธิ ภาวนาคุณ (พระมหาโกศล จันทวันโน) อดีตเจ้าอาวาส เกจิซื่อดังด้านวิปัสสนากรรมฐาน จากนั้นก็พาชมรอบบริเวณวัดก่อนไปสักการะพระพุทธเมตตาองค์ใหญ่ที่ตั้งตระหง่าน (อยู่ระหว่างก่อสร้าง) สูง 80 ม. (รวมฐาน) หน้าตักกว้าง 60 ม. สูงที่สุดเป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย  รองจากพระพุทธมหานวมินทรศากยมุนีศรีวิเศษชัยชาญสูง 93 ม. ที่วัดม่วง จ.อ่างทอง นอกจากนี้ภายในวัดยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น บรมจักรเจดีย์กลางน้ำ พระพุทธบารมี และปู่ฤาษี 108 ผู้ใจบุญที่มีจิตศรัทธาที่จะร่วมสร้างพระพุทธเมตตาสามารถร่วมทำบุญได้ที่บัญชีวัดทับคล้อ ธนาคารกรุงไทย บัญชีเลขที่  612-0-21616-2
ตกเย็นก็เดินทางสู่วัดบรรพตสุธาราม (วัดวังเรือน) ต.วังงิ้วใต้ อ.ดงเจริญ สักการะหลวงพ่อขาวศักดิ์สิทธิ์ที่ประดิษฐานกลางยอดเขาวังเรือน และรอยพระพุทธบาท เพื่อความเป็นสิริมงคล แล้วก็ได้เวลาเดินทางเข้าที่พัก สวนคุณยาย รีสอร์ท ต.เนินมะกอก อ.บางมูลนาก พักผ่อนตามอัธยาศัยท่ามกลางบรรยากาศร่มรื่นด้วยแมกไม้
เช้าวันใหม่ที่สดใส พวกเราก็เดินทางไปที่วัดสุขุมาราม หรือวัดพระนอน  ต.วังตะกู อ.บางมูลนาก เพื่อสักการะพระพุทธไสยาสน์สีทององค์ใหญ่ยาวถึง 55 เมตร ซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ ที่มีลักษณะสวยงามมาก สร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา   พระครูวิจารณ์วิหารกิจ (หลวงพ่อสุรินทร์) เจ้าอาวาสวัดสุขุมาราม ยังได้พาชมวิหารหลวงพ่อเขียน ธมมรักขิโต ซึ่งหลวงพ่อเขียน วัดขุนเณร ท่านเคยเป็นอดีตเจ้าอาวาสของวัดนี้ เกจิอาจารย์ที่มีวิชาอาคมเก่งกล้า และเป็นพระนักพัฒนา โดยวาจาท่านศักดิ์สิทธิ์ ผู้คนจึงเคารพศรัทธาท่านมาก ฉะนั้นภายในวัดจึงมีรูปหล่อเหมือนหลวงพ่อเขียนประดิษฐานอยู่มากมาย นอกจากนี้ยังมีอาคารโบราณเก่าต่างๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ อุโบสถ, ศาลาการเปรียญ ฯลฯ และเจดีย์พระโพธิญาณ หลวงปู่ปาน วัดบางนมโค จังหวัดอยุธยา อีกด้วย
หลังกราบสักการะพระนอนแล้ว ก็เดินทางไปชมพื้นที่แปลงเกษตรตามแนวทางทฤษฎีใหม่ ณ ศูนย์ชัยพัฒนาการเกษตรสิรินธร ต.เนินมะกอก อ.บางมูลนาก ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชานุมัติ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พัฒนาที่ดิน จำนวน 91-2-44 ไร่ ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตรเพื่อถ่ายทอดความรู้ด้านการเกษตรแก่เกษตรกรและผู้ที่สนใจ โดยมีนางสาวนพรัตน์ อุนานันท์ ผู้จัดการศูนย์ฯ ได้พาเดินชมในโครงการย่อยในศูนย์ เริ่มจากการปลูกพืชผักปลอดภัย เพื่อให้เกษตรกรได้รับความรู้เกี่ยวกับวิธีการผลิตพืชผักที่ดี และเหมาะสมตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับเกษตรกรได้เข้ามาศึกษาดูงาน และจำหน่ายผักที่ผลิตในพื้นที่โครงการ ตามด้วยการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดี เพื่อผลิตเมล็ดข้าวพันธุ์ดีเหมาะสมกับพื้นที่ และขยายพันธุ์ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ อีกทั้งเป็นแปลงต้นแบบเทคโนโลยีการผลิตข้าวที่เหมาะสม เพื่อให้เกษตรกรเข้ามาศึกษาและเรียนรู้กระบวนการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดี มีคุณภาพ และให้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น ต่อด้วยการชมการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ เช่น ปลานิล และกบนา เพื่อผลิตปลานิลพันธุ์ดีจำหน่ายราคาถูกแก่เกษตรกร เพื่อให้ความรู้เรื่องวิธีการเพาะพันธุ์ปลานิล และวิธีการเลี้ยงปลาอย่างถูกวิธี นอกจากนี้ยังมีการจำหน่ายลูกปลานิลและพันธุ์กบนาลูกผสม เพื่อให้ผู้สนใจสามารถนำไปเพาะเลี้ยง หรือขยายพันธุ์ปลานิลในราคาถูก สร้างรายได้ และอาชีพต่อไป ต่อจากนั้นชมการเลี้ยงโคนม สาธิตการจัดการอาหารหยาบคุณภาพดีในการเลี้ยงโคนม โดยใช้อาหารข้นจำนวนน้อย เพื่อลดต้นทุนการผลิต ได้ผลผลิตที่เหมาะสมทั้งปริมาณและคุณภาพ เพิ่มช่องว่างของรายได้กับต้นทุนให้มากขึ้น และผู้เลี้ยงอยู่รอด พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน และยังได้สาธิตการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากน้ำนมดิบ ปิดท้ายด้วยการปลูกพันธุ์ไม้ผลแปลงผสมผสาน เพื่อแหล่งรวบรวมไม้ผลพันธุ์ดีต่างๆ ทั้งที่เป็นพันธุ์ที่หายาก และเป็นพืชสำคัญทางเศรษฐกิจในเชิงระบบ เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกร นักเรียน นักศึกษา และสามารถนำไปปฏิบัติเพื่อประกอบอาชีพได้ 
ชมการสาธิตต่างๆ ในศูนย์การเกษตรแล้ว ก็เดินทางไปที่วัดท้ายน้ำ ต.ท้ายน้ำ อ.โพทะเล แหล่งท่องเที่ยววิถีพุทธชื่อดังมีอายุยาวนานกว่า 100 ปี เป็นวัดเก่าของหลวงพ่อเงิน พุทฺธโชติ พระผู้ทรงฌานอภิญญา เคยจำพรรษาอยู่ ก่อนที่จะย้ายไปอยู่วัดบางคลาน เพื่อกราบสักการะหลวงพ่อเงินองค์ใหญ่หน้าตักกว้าง 10 ม. ที่ตั้งตระหง่านน่าเคารพศรัทธา จากนั้นก็เดินไปกราบสักการะหุ่นขี้ผึ้งหลวงพ่อเงินบนบ้านทรงไทยไม้สักโบราณ แล้วเดินไปชมภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องเล่าพุทธประวัติและประวัติหลวงพ่อเงินบนวิหาร ส่วนที่ชั้นล่างจัดเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงสิ่งของที่หลวงพ่อเงินเคยใช้ รวมทั้งของเก่าอื่นๆ นับหมื่นชิ้น 
หลังสักการะหลวงพ่อเงินแล้ว ก็เดินทางที่วัดบึงนาราง ต.บึงนาราง อ.บึงนาราง เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา เพื่อกราบสักการะหลวงพ่อสุโข พระพุทธรูปในสมัยสุโขทัยตอนต้น ที่ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถโบราณที่ถูกสร้างคลุมด้วยอุโบสถใหม่ และที่หน้าพระอุโบสถยังประดิษฐานพระสังกัจจายน์รูปทรงแปลกที่ไม่เหมือนที่อื่น หาชมได้ยาก เพราะเป็นองค์พระสังกัจจายน์กวักมือ ชาวบ้านเรียกว่า “พระสังกัจจายน์ปางกวักเรียกทรัพย์” ที่วัดแห่งนี้ยังมีรอยพระพุทธบาทลวดลายเก่าแก่ รวมทั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น แหล่งเรียนรู้ของชุมชนอีกด้วย
แล้วก็ได้เวลาไปชมวัดโพธิ์ประทับช้าง โบราณสถานศักดิ์สิทธิ์ ต.โพธิ์ประทับช้าง อ.โพธิ์ประทับช้าง เป็นวัดเก่าแก่สร้างสมัยอยุธยาตอนปลาย สมัยพระเจ้าเสือ ภายในวัดมีพระวิหารสูงใหญ่ มีกำแพงล้อมรอบ 2 ชั้นเป็นศิลปะแบบอยุธยา เพื่อสักการะหลวงพ่อโตที่ประดิษฐานอยู่ภายในวิหาร บริเวณหน้าวัดมีต้นตะเคียนอายุกว่า 300 ปี ถัดมาด้านซ้ายจะเป็นอนุสรณ์สถานที่ประทับของอนุสาวรีย์พระพุทธเจ้าเสือ และบริเวณด้านหลังจะเป็นศาลพันท้ายนรสิงห์ ตามด้วยการชมสวนเกษตรโพธิ์ประทับช้างที่อยู่ใกล้ๆ กัน ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งปลูกส้มโอที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดพิจิตร หลังทานส้มโอที่อร่อยแล้ว ก็วกกลับมาแวะซื้อสินค้าท้องถิ่นตลาดคลองเดื่อ ก่อนลงเรือชมหิ่งห้อยกลางแม่น้ำพิจิตร 
เช้าวันรุ่งขึ้นพวกเราตื่นแต่เช้าเพื่อเดินทางไปตักบาตรที่วัดดงกลาง ต.ดงกลาง อ.เมือง  เป็นการตักบาตรทางน้ำที่พระครูวิจารณ์ธรรมโสภิต เจ้าอาวาสฯ เป็นผู้ริเริ่ม เพื่อดำรงไว้ซึ่งศาสนาและวัฒนธรรมที่เป็นมนต์เสน่ห์ของวิถีท้องถิ่น โดยพระสงฆ์จะนั่งสวดมนต์พิธีเพื่อความเป็นความสิริมงคลแก่ญาติโยมที่มาร่วมใส่บาตร และอุทิศส่วนกุศลให้ญาติพี่น้อง เจ้ากรรมนายเวร จากนั้นพระสงฆ์ก็จะไปลงเรือ  เพื่อล่องเรือมารับบิณฑบาตจากญาติโยม กิจกรรมตักบาตรทางเรือจะมีเฉพาะวันอาทิตย์ในช่วงเวลา 07.30 น. ส่วนทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ช่วงตั้งแต่เวลา 15.00 น. – 20.00 น. ที่นี่ก็จัดให้มีตลาดน้ำดงกลางริเวอร์ไซด์ เป็นตลาดนัดที่ชาวบ้านนำของกิน ของขาย ที่เป็นผลิตภัณฑ์ ผลิตผลพืชผัก ผลไม้ และของฝาก มาจำหน่ายในราคาย่อมเยา และยังมีบึงบัวให้ได้ถ่ายภาพเซลฟี่กันด้วย 
หลังจากตักบาตรได้บุญกันเรียบร้อย ก็เดินทางไปชมอาคารบ้านเรือนโบราณที่เก่าแก่ที่ยังคงความคลาสสิกที่ชุมชนท่าฬ่อ ต.ท่าฬ่่อ อ.เมืองพิจิตร เดินจากชุมชนมาอีกนิดก็ถึงวัดท่าฬ่่อ สร้างขึ้นประมาณ พ.ศ. 2410 ที่วิหารของวัดเป็นที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อหิน” ซึ่งผู้คนเคารพเลื่อมใสศรัทธา เพราะมีผู้คนมาบนบานหลวงพ่อหิน ก็มักประสบแต่ผลสำเร็จ วันที่พวกเราไปสักการะหลวงพ่อหิน ยังมีชาวบ้านนำของมาถวายแก้บนกันหลายราย และที่วัดนี้ยังเป็นที่ประดิษฐาน "พระเจ้าเข้านิพพาน" พระพุทธรูปเก่าแก่ปางนิพพานที่อุโบสถหลังเก่าหรือวิหารหลวงพ่อพวง ซึ่งพระเจ้าเข้านิพพานมีเพียง 2 แห่งเท่านั้นในประเทศไทย คือที่วัดแห่งนี้ซึ่งถือว่าสมบูรณ์ที่สุดกับที่วิหารแกลบ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.พิษณุโลก สำหรับวิหารหลังเก่าหรือหลวงตากลิมซึ่งเป็นที่ตั้งของจิตรกรรมนั้นสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2453 ทีตั่งอยู่ท้ายวัด ไม่มีพระพุทธรูปให้คนมากราบไหว้ จึงถูกปิดตาย ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายมากเพราะจิตรกรรมในวิหารหลังนี้งดงามและยังคงสภาพที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่ง
ปิดท้ายทริปนี้ที่ศาลเจ้าแม่ทับทิมท่าฬ่อ เพื่อกราบไหว้ขอพรเจ้าแม่ทับทิม (ตุ้ยบ่วยเต่งเหนี่ยง) ซึ่งถือว่าเป็นเจ้าแม่ทับทิมองค์แรกที่ชาวจีนไหหนำนำมายังประเทศไทย โดยเจ้าแม่ทับทิมองค์นี้ถูกอัญเชิญมาพร้อมกับเจ้าพ่อกวนอู มาจากเกาะไหหลำ มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน ในราว พ.ศ.2410 หรือประมาณ 154 ป ที่ผ่านมา ความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าแม่ทับทิมท่าฬ่อเป็นที่เลื่องลือ ประชาชนทั่วไปจึงมีความเลื่อมใสศรัทธา นอกจากนี้ภายในศาลยังมีถาวรวัตถุอันล้ำค่าอีก เช่น เกี้ยวที่ใช้เป็นที่ประทับขององค์เจ้าแม่ ซึ่งได้นำมาจากประเทศจีน และยังมีโรงเรียนยกเอ็ง ที่ในอดีตเคยเป็นโรงเรียนสอนภาษาจีนให้แก่คนไทย และสอนภาษาไทยให้แก่คนจีน  ซึ่งปัจจุบันนี้ได้จำลองห้องเรียนในอดีต และจัดแสดงข้าวของ เครื่องใช้ ให้แก่นักท่องเที่ยวได้เข้าชม