ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ถือเป็นความภาคภูมิใจ ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่สนับสนุนผลงาน “กระเบื้องทางเท้าสำหรับผู้พิการทางสายตาจากขยะกล่องนมและยางพารา” ของ นางสาวพรพิสุทธิ์ ชินอมรพงษ์ นางสาวฤทัยชนก แสงเงินอ่อน และนางสาวรมณ เจียมกิม มัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี (จภ.ปท.) โดยมีนายขุนทอง คล้ายทอง และนางสาววรางคณา ธุภักดี เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา เข้าร่วมประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับนานาชาติ ในงาน The Innovation Week in Africa (IWA 2021)
ณ ประเทศโมร็อกโก ในรูปแบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 8-12 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา จนสามารถคว้ารางวัลเหรียญทองมาครองได้สำเร็จ จากการนำขยะกล่องนมมาผ่านกระบวนการขึ้นรูปด้วยยางพาราสู่การพัฒนาเป็นกระเบื้องทางเท้าสำหรับผู้พิการทางสายตา
นางสาวพรพิสุทธิ์ ชินอมรพงษ์ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นมาจากการที่ได้สังเกตเห็นว่าผู้พิการเป็นบุคคลซึ่งมีข้อจํากัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือเข้าไปมีส่วนร่วมทางสังคม เนื่องจากมีความบกพร่องทางร่างกายหรือการเรียนรู้ ทำให้การดำเนินชีวิตมีอุปสรรคในด้านต่าง ๆ และมีความจําเป็นเป็นพิเศษที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือ โดยเฉพาะผู้พิการทางสายตานั้นเป็นผู้ที่ไม่สามารถมองเห็นสิ่งต่าง ๆ
ซึ่งในประเทศไทยนั้น
พบผู้พิการทางการมองเห็นจำนวน 191,965 คน โดยปัจจุบันอาคาร สถานที่และหน่วยงานต่าง ๆ
เช่น โรงพยาบาล สถานีขนส่ง หรือ ห้างสรรพสินค้า ได้มีการติดตั้งเบรลล์บล็อกเพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างความปลอดภัยในการสัญจร ให้กับผู้พิการทางสายตา แต่บางครั้งการติดตั้งเบรลล์บล็อกก็สามารถทำได้ยาก เนื่องจากภายในสถานที่ปิด มีการออกแบบสถานที่และจัดวางเครื่องเรือน ตามรูปแบบที่ออกแบบเพื่อความสวยงาม ทำให้เกิดอุปสรรคหรือสิ่งกีดขวางในการติดตั้ง อีกทั้งเบรลล์บล็อกบาง ชนิดจะต้องมีการทำการรื้อถอนหรือขุดเจาะพื้นผิวเดิมเพื่อทำการติดตั้ง จึงนำมาซึ่งการใช้เวลา แรงงาน และค่าใช้จ่าย ที่สูงขึ้นและอาจเป็นการรบกวนผู้ที่สัญจรไปมา ในบริเวณนั้น ๆ
นางสาวฤทัยชนก แสงเงินอ่อน กล่าวอีกว่า สมาชิกในทีมเห็นตรงกันว่าปัญหานี้ควรได้รับการแก้ไข จึงมีแนวคิดที่จะประดิษฐ์นวัตกรรม เบรลล์บล็อกที่มีดูความทนทานต่อแรง น้ำหนัก สภาพอากาศ มีน้ำหนักเบา สามารถติดตั้งและเคลื่อนย้ายได้ง่าย มีต้นทุนการผลิตและราคาที่ไม่สูงมาก ทำให้ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการติดตั้งใหม่หรือติดตั้งเพิ่มมากขึ้น โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์กระเบื้องทางเท้าสำหรับผู้พิการทางสายตานั้น จะทำมาจากขยะกล่องนมและยางพารา ซึ่งเป็นขยะรีไซเคิลมาทำการแปรรูปอีกครั้ง โดยใช้น้ำยางพาราธรรมชาติชนิดข้นต่อน้ำหนักของกล่องนม UHT ที่ผ่านการทำความสะอาดและปั่นละเอียดจนมีลักษณะเป็นเยื่อ ในอัตราส่วนของปริมาณยางพาราต่อน้ำหนักของกล่องนม จากนั้นผ่านการทดลองขึ้นรูปในสูตรต่าง ๆ และพบว่ามีสูตรการผลิตบางสูตรที่มีคุณสมบัติที่ดีมากๆ เหมาะแก่การนำไปใช้งานได้เป็นอย่างดี ซึ่งสมาชิกทั้งสามคนยังกล่าวอีกว่าหากผลงานดังกล่าวมีผู้สนใจที่จะนำไปต่อยอด จะเป็นการดีมากเพราะจะช่วยให้ผู้พิการทางสายตาสามารถใช้ชีวิตในที่ต่าง ๆ ได้สะดวกยิ่งขึ้น
Pumpui ภาพ/ข่าว
Magggi รายงาน