สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
จัดกิจกรรมแถลงข่าว NRCT TALK : รางวัลการวิจัยแห่งชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมเปิดบ้านงานวิจัยและนวัตกรรม By NRCT ประจำปีงบประมาณ 2564 (ครั้งที่ 6) เชิดชูเกียรตินักวิจัยไทยที่มีผลงานโดดเด่น สร้างคุณูปการให้วิชาการและประเทศชาติ รองศาสตราจารย์ ดร. รังสรรค์ พาลพ่าย แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี “นักวิจัยสาขาเกษตรและชีววิทยา” ผู้ที่ได้รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2564 จากจำนวน 7 ท่าน ใน 5 สาขา
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. มีบทบาทสำคัญในการให้ทุนวิจัยและนวัตกรรม การจัดทำฐานข้อมูลและดัชนีด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ การริเริ่มขับเคลื่อนและประสานการดำเนินงานโครงการวิจัยและนวัตกรรมที่สำคัญของประเทศ การจัดทำมาตรฐานและจริยธรรมการวิจัย การส่งเสริมและถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อใช้ประโยชน์ การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและนวัตกรรม และบทบาทที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การให้รางวัล ประกาศเกียรติคุณ ยกย่องบุคคลหรือหน่วยงานด้านการวิจัยและนวัตกรรม วช. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญจึงได้มอบรางวัลการวิจัยห่งชาติ : รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2564 แก่ รองศาสตราจารย์ ดร. รังสรรค์ พาลพ่าย แห่งสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เนื่องจากนักวิจัยผู้มีผลงานโดดเด่นทางด้านการโคลนนิ่งสัตว์หลากหลายชนิด ทั้งในระดับโลกและระดับชาติ โดยในปี 2542 ได้ตีพิมพ์รายงานผลงานวิจัยรายแรกของโลก
รองศาสตราจารย์ ดร. รังสรรค์ พาลพ่าย แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กล่าวว่า เมื่อปี 2543 ประสบความสำเร็จผลิตลูกโคโคลนนิ่งรายแรกของโลกจากการใช้เซลล์หนังหูโคเต็มวัย และในปี 2546 ยังได้ผลิตลูกโคโคลนนิ่งพันธุ์บราห์มันเกิดมาจากเซลล์ชุดเดียวกันถึง 7 ตัว นับเป็นการผลิตลูกโคโคลนนิ่งในโคเนื้อเกิดมามากที่สุดในโลก และยังได้ผลิตลูกโคขาวลำพูนที่ใช้ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเกิดมาในปี 2550 มีการประยุกต์ใช้
การโคลนนิ่งเพื่อการอนุรักษ์กระทิงด้วยการทำโคลนนิ่งข้ามสปีชีส์ระหว่างกระทิงและโค ได้ลูกกระทิงโคลนนิ่งเกิดมาในปี 2551 นับเป็นรายที่ 2 ของโลก มีสัตว์ชนิดอื่นที่เกิดมาจากการโคลนนิ่งโดยการใช้เซลล์ร่างกายสัตว์เต็มวัยเกิดมาอีกได้แก่ แมวบ้าน แพะ เป็นต้น
ส่วนการผลิตลูกโคพันธุ์ดีด้วยการย้ายฝากตัวอ่อน ประสบความสำเร็จในโคนมเป็นรายแรกของไทยตั้งแต่
ปี 2529 มีการพัฒนาเทคนิคการผลิตตัวอ่อนด้วยการปฏิสนธิในหลอดแก้ว การแช่แข็งตัวอ่อน อย่างต่อเนื่อง และ
ได้ต่อยอดด้วยการนำโคพันธุ์ดีมาเจาะเก็บไข่ด้วยอัลตราซาวด์แล้วนำไข่ไปทำปฏิสนธิในหลอดแก้วเพื่อผลิตตัวอ่อนไปย้ายฝากให้แม่โคตัวรับให้ตั้งท้อง ได้ลูกโคเกิดมากกว่า 200 ตัว มีการจัดอบรมให้นักวิชาการ สัตวบาล และสัตวแพทย์ จากภาครัฐและเอกชนนำเทคโนโลยีนี้ไปผลิตโคพันธุ์ดีในเชิงพาณิชย์แล้ว
ส่วนการวิจัยเชิงลึกเพื่อสร้างองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ทางการแพทย์ มีแพลตฟอร์มการวิจัยเซลล์ต้นกำเนิดตัวอ่อนหนูเม้าส์ มนุษย์ และลิงวอก และแพลตฟอร์มการวิจัยเซลล์ต้นกำเนิดมีเซ็นไคม์ที่แยกได้จากเนื้อเยื่อวาร์ตันเจลลี่ของสายรกมนุษย์ เป็นการวิจัยสูตรน้ำยา สารเคมี กลไกการเหนี่ยวนำให้เซลล์ต้นกำเนิดเปลี่ยนไปเป็น เซลล์ประสาท เซลล์ตับ เซลล์กระดูกอ่อน เซลล์ตับอ่อน เซลล์กระจกตา จากข้อมูลที่ได้จากงานวิจัยจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้รักษาผู้ป่วยที่มีภาวะโรคต่าง ๆ ในอนาคต
แม็กกี๊ ภาพ
ภาวัช สว่างวงศ์ รายงาน