กทม. ขยายเวลางดขายเหล้าถึง 30 เม.ย. นี้ พร้อมกำหนด 71 จุดแจกสิ่งของ ป้องกัน COVID - 19
วันที่ 20 เม.ย.2563 เวลา 13.00 น. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 9/2563 หารือแนวทางปฏิบัติและการดำเนินการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) ในพื้นที่กรุงเทพฯ ณ ห้องประชุมชั้น 8 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 เขตดินแดง
ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมฯ เห็นควรให้มีการออกประกาศฉบับที่ 7 ขยายเวลาการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากเดิมที่กำหนดไว้ถึงวันที่ 20 เม.ย. 63 ออกไปจนถึงวันที่ 30 เม.ย. 63 ให้สอดคล้องกับแนวทางของจังหวัดอื่นๆ และการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เนื่องจากการดื่มสุราเป็นสาเหตุหนึ่งของการชักชวนผู้อื่นมาร่วมดื่มด้วย ทำให้เกิดการรวมตัวกันของกลุ่มคน อาจเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID - 19 ได้ อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ที่เป็นโรคพิษสุราเรื้อรังหากเกิดอาการหรือผู้ที่ติดสุรามีความประสงค์เลิกสุราในช่วงเวลานี้ สามารถขอรับการรักษาได้ฟรีที่โรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร และศูนย์บริการสาธารณสุขของกรุงเทพมหานครทุกแห่ง
นอกจากนี้ ในที่ประชุมได้มีการหารือกรณีผู้มีจิตศรัทธานำอาหารหรือสิ่งของมาแจกจ่ายให้กับประชาชนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID - 19 ว่า การแจกอาหารหรือสิ่งของให้กับประชาชนในช่วงวิกฤติถือเป็นสิ่งที่ดี แต่หากทำไม่ถูกวิธีอาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID - 19 ได้ ในที่ประชุมจึงได้มีการกำหนดแนวทางการดำเนินการเป็น 3 แนวทาง ได้แก่ 1. การแจกตามบ้าน โดยการเคาะประตูบ้านแจก 2. การบริจาคให้หน่วยงานรัฐหรือเอกชนที่ต้องการ และ 3. การจัดจุดแจกสิ่งของในพื้นที่ 50 เขต ใน 3 ช่วงเวลา คือ เช้า เวลา 07.00 – 09.00 น. กลางวัน 11.00 – 13.00 น. และเย็น เวลา 16.00 – 18.00 น. ซึ่งเบื้องต้นกรุงเทพมหานครได้กำหนดไว้จำนวน 71 จุด ดังนี้ กลุ่มเขตกรุงเทพกลาง 1. เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย บริเวณลานวัดสุนทรธรรมทาน และแยกผ่านฟ้าฯ 2. เขตวังทองหลาง บริเวณลานกีฬาฝั่งใต้ ใต้ทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา 3. เขตสัมพันธวงศ์ บริเวณซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติไทย-จีน และลานสถานีรถไฟฟ้ามังกร 4. เขตพญาไท บริเวณสวนพญาไทภิรมย์ 5. เขตดินแดง บริเวณลานกีฬาห้วยขวางเฉลิมพระเกียรติ และสวนป่าวิภาวดีรังสิต เขตดุสิต บริเวณโรงเรียนวัดจันทรสโมสร 7. เขตพระนคร บริเวณพระแม่ธรณีบีบมวยผม และสวนหย่อมถนน 13 ห้าง 8. เขตห้วยขวาง บริเวณลานกีฬาชุมชนบึงพระราม 9 9. เขตราชเทวี บริเวณลานกีฬาพัฒน์ 2 สวนสันติภาพ สวนราชเทวีภิรมย์ สวนรมย์ราชเทวี และสวนมูลนิธิรัฐบุรุษพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ (สวนเงิน)
กลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ 1. เขตสายไหม บริเวณวัดพรพระร่วงประสิทธิ์ วัดหนองใหญ่ วัดเจริญธรรมาราม (วัดศูนย์) วัดราษฎร์นิยมธรรม และวัดอยู่ดีบำรุงธรรม (วัดออเงิน) 2. เขตจตุจักร บริเวณหน้าวัดเสมียนนารี 3. เขตหลักสี่ บริเวณโรงเรียนเคหะทุ่งสองห้องวิทยา 4. เขตดอนเมือง บริเวณลานกิจกรรมโรงเรียนวัดดอนเมือง 5. เขตบางซื่อ บริเวณใต้รถไฟฟ้าสายสีม่วง สถานีเตาปูน 6. เขตลาดพร้าว บริเวณโรงเรียนเพชรถนอม โรงเรียนวัดลาดปลาเค้า 7. เขตบางเขน ลานหน้าพระมหาเจดีย์ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร
กลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก 1. เขตสะพานสูง บริเวณวัดลาดบัวขาว และทางเข้าหน้าโรงเรียนศรีพฤฒา ม.นักกีฬา 2. เขตหนองจอก บริเวณโรงเรียนวัดหนองจอก (ภักดีนรเศรษฐ์) และสนามกีฬาบางกอกอารีน่า 3. เขตบางกะปิ บริเณสวนพฤกษชาติ 4. เขตประเวศ บริเวณสวนสาธารณะสวนสุขภาพ 5. เขตลาดกระบัง บริเวณห้างสรรพสินค้าโรบินสัน ถนนลาดกระบัง 6. เขตบึงกุ่ม บริเวณวัดนวลจันทร์ 7. เขตคันนายาว บริเวณลานอเนกประสงค์ วันเดอร์ เวิลด์ 8. เขตมีนบุรี บริเวณสวนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 และ 9. เขตคลองสามวา บริเวณวัดพระยาสุเรนทร์
กลุ่มเขตกรุงเทพใต้ 1. เขตวัฒนา บริเวณลานวัดธาตุทอง 2. เขตสวนหลวง บริเวณหน้าห้างโลตัส ถ.พัฒนาการ 3. เขตพระโขนง บริเวณลานจอดรถวัดวชิรธรรมสาธิต วรวิหาร 4. เขตสาทร บริเวณใต้ทางด่วนสวนอยู่ดี ถ.เจริญราษฎร์ 5. เขตคลองเตย บริเวณลาน ตรงอาจณรงค์ ไนท์บาซาร์ ถ.กล้วยน้ำไท ตัดกับเส้นทางรถไฟสายเก่า ปากน้ำ 6. เขตบางคอแหลม บริเวณลานจอดรถ เอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟร้อนท์ 7. เขตปทุมวัน บริเวณลานกีฬาจารุเมือง ใต้ทางด่วน ถ.พระราม 1 8. เขตบางรัก บริเวณลานกีฬามหานครปลอดยาเสพติด ใต้ทางด่วนพิเศษศรี รัช ซ.เฟรเซอร์แอนด์นีฟ 9. เขตยานนาวา บริเวณสมาคมเตชะสัมพันธ์ ถ.พระราม 3 ระหว่าง ซ.50 และ ซ.48 บริเวณลานกีฬาชุมชนคลองด่าน สวนศิลาฤกษ์ ใต้สะพานภูมิพล ลานกีฬาชุมชนโสณมัย อร่ามดวง โรงเรียนวัดช่องลม และลานกีฬาชุมชนวัดช่องลม 10. เขตบางนา บริเวณลานจอดรถวัดศรีเอี่ยม
กลุ่มเขตกรุงธนเหนือ 1. เขตบางพลัด บริเวณใต้สะพานพระราม 8 2. เขตบางกอกน้อย บริเวณวัดระฆังโฆษิตาราม 3. เขตบางกอกใหญ่ บริเวณใต้สะพานข้ามแยกท่าพระ 4. เขตตลิ่งชัน บริเวณตลาดน้ำตลิ่งชัน 5. เขตทวีวัฒนา บริเวณสนามหลวง 2 6. เขตจอมทอง บริเวณลานกีฬาใต้ทางด่วนดาวคะนอง 7. เขตธนบุรี บริเวณลานอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช 8. เขตคลองสาน บริเวณสวนป่าเฉลิมพระเกียรติใต้สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
กลุ่มเขตกรุงธนใต้ 1. เขตบางขุนเทียน บริเวณลานจอดรถโรงเบียร์ฮอลแลนด์ 2. เขตบางแค บริเวณลานจอดรถหน้าบิ๊กซี สาขาเพชรเกษม 3. เขตหนองแขม บริเวณวัดอุดมรังสี 4. เขตภาษีเจริญ บริเวณโรงเรียนวัดจันทร์ประดิษฐาราม 5. เขตบางบอน บริเวณโรงเรียนวัดบางบอน 6. เขตทุ่งครุ บริเวณวัดทุ่งครุ 7. เขตราษฎร์บูรณะ บริเวณใต้ทางด่วน ถ.สุขสวัสดิ์
ทั้งนี้ จะมีเจ้าหน้าที่ดูแลและจัดระเบียบการแจก รวมถึงมีการจัดแอลกอฮอล์ล้างมือไว้ให้ประชาชนที่จะมารับสิ่งของ มีการตรวจวัดไข้ และจัดระยะห่างระหว่างรอรับของ สำหรับผู้สนใจจะมาแจกของนั้นขอให้ติดต่อประสานกับสำนักงานเขตก่อนทำการแจกอาหารหรือสิ่งของให้ประชาชน รวมถึงท่านที่มีความประสงค์จะแจกเองตามบ้านก็ขอให้ประสานสำนักงานเขตพื้นที่เพื่อขอคำแนะนำวิธีการที่ถูกต้องและปลอดภัยสำหรับทุกคน อย่างไรก็ตามเพื่อความสะดวกของผู้ที่จะมาแจกสิ่งของ ขณะนี้กรุงเทพมหานครได้มีการจัดทำระบบ BKK Help ให้เข้ามาดูจุดแจกสิ่งของแต่ละจุด ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการคาดจะแล้วเสร็จภายในวันหรือ 2 วันนี้ จะมีการแจ้งรายละเอียดให้ทราบต่อไป
วันนี้ กทม. ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติมต่อเนื่อง 5 วันแล้ว
ในวันเดียวกันนี้ (20 เม.ย.63) พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร 27/2563 โดยมีนายสกลธี ภัททิยกุล นายเกรียงยศ สุดลาภา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร คณะโฆษกของกรุงเทพมหานคร ผู้แทนสำนัก ผู้แทนกลุ่มเขต และผู้แทนส่วนราชการในสังกัดกรุงเ ทพมหานครที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า)
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยวันนี้ (20 เม.ย. 63) ในพื้นที่กรุงเทพมหานครมียอดผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มขึ้น จำนวน 15 คน ยอดผู้ป่วยสะสมรวมจำนวน 1,440 คน ผู้ป่วยรักษาหายสามารถกลับบ้าน จำนวน 14 คน ยอดรวมผู้ป่วยรักษาหาย จำนวน 1,323 คน ผู้ป่วยอยู่ระหว่างการรักษา 357 คน ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติมมาเป็นเวลา 5 วัน รวมผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 19 ราย สำหรับผลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ประจำด่านคัดกรองการเดินทางเข้าสู่กรุงเทพมหานคร เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จำนวน 13 ด่าน ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.-19 เม.ย. 63 เรียกตรวจยานพาหนะ รวมทั้งสิ้น 212,071 คัน ตรวจคัดกรองบุคคล รวมทั้งสิ้น 457,579 คน พบบุคคลเข้าข่ายเป็นกลุ่มเสี่ยง รวมทั้งสิ้น 70 คน ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจได้ประสานศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ ตรวจคัดกรองเพิ่มเติม โดยผู้เข้าข่ายเป็นกลุ่มเสี่ยง 60 คน มีสุขภาพปกติหลังจากตรวจคัดกรองซ้ำ 6 คน เป็นผู้เดินทางผ่านเพื่อไปจังหวัดอื่น และอีก 4 คน สำนักอนามัยเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งส่งตรวจสอบในห้องปฏิบัติการ (swap) ซึ่งผลการตรวจสอบทางห้องห้องปฏิบัติการไม่พบเชื้อโควิด-19 2 ราย และอยู่ระหว่างรอผล 1 ราย
นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้มอบหมายให้คณะทำงานด้านต่างประเทศ ของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร จัดทำคำสั่งและประกาศต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร เป็นภาษาต่างประเทศ เพื่อสร้างความเข้าใจต่อชาวต่างประเทศที่จะต้องปฏิบัติตามคำสั่ง มาตรการต่างๆ ที่กรุงเทพมหานครกำหนดได้อย่างชัดเจน ถูกต้องต่อไป