โครงการ CHULA ART TOWN
มหกรรมศิลปะเพื่อชุมชนเมือง
ศาสตราจารย์บัณฑิตย์ เอื้ออาภรณ์
อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล
รองอธิการบดี ด้านจัดการจัดการทรัพย์สิน และนวัตกรรม กำกับดูแลสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ (PMCU)
ศาสตราจารย์ ดร.บุศกร บิณฑสันต์
คณบดี คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ คุณนภ พรชำนิ ผู้บริหารลิโด้ คอนเน็ค ร่วมแถลงข่าวการจัดโครงการ CHULA ART TOWN ณ อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โครงการ CHULA ART TOWN เป็นส่วนหนึ่งของวาระครบรอบ 36 ปีของคณะศิลปกรรมศาสตร์ ซึ่งจัดขึ้นเพื่อสนับสนุนกิจกรรมระหว่างนิสิต อาจารย์ ศิลปิน และบุคลากร ด้วยกิจกรรมการวาดภาพบนพื้นที่เขตพาณิชย์ในการกำกับดูแลของสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU) ประกอบด้วยพื้นที่สวนหลวง-สามย่าน จำนวน 12 จุด พื้นที่สยามสแควร์ คณะทันตแพทย์ศาสตร์จุฬาฯ จำนวน 15 จุด และ ลิโด้ คอนเน็ค จำนวน 12 จุด
โดยรูปแบบการวาดภาพเป็นการวาดภาพบนผนังอาคารและกำแพง ในรูปแบบของ Street Art ของศิลปินชื่อดังทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้าร่วมโครงการจำนวน 50 ท่าน อาทิ คุณนเรนทร์ เรืองวงศ์, คุณอานนท์ เนยสูงเนิน, คุณปิยศักดิ์ เขียวสะอาด, คุณเอกรัตน์ นาคอนุเคราะห์, คุณราชันย์ กล่อมเกลี้ยง, คุณกิตติพงศ์ โต๊ะแก้ว , คุณคมกฤช เลิศวิศวกร, คุณเฉลิมวุฒิ เจริญวงศากิจ, คุณนรรัตน์ ถวิลอนันต์, คุณธัชกร ศิรวัชรเดช, คุณชัญญานุช กาญจนพงษ์พร, คุณชัยบูรณ์ บันลือ, คุณเดเอล ฮอร์แกน, คุณจตุพล ทองดี, คุณณัฐพงษ์ แก้วประดิษฐ์, คุณอัครพล มณฑาทอง, คุณปกรณ์ ธนานนท์, คุณศุภชัย มโนสานโสภณ และศิลปินนิสิตเก่าของคณะศิลปกรรมศาสตร์ เป็นต้น
โดยมีผลงานด้าน Street Art พร้อมให้ชมแล้ว บนพื้นที่สวนหลวง-สามย่าน จำนวน 6 ผลงาน
จุดที่ 1 บริเวณ “หลังตลาดสามย่าน” ‘สามย่าน’ เป็นผลงานของศิลปิน ได้แก่ Gong, Bang, Komkrit, Abi, Ironskin, Dark1 โดยเหล่าศิลปินต้องการที่จะสื่อเอกลักษณ์ของชุมชนสามย่าน ว่าเป็นชุมชนเก่าแก่ และเป็นแหล่งรวมร้านอาหารเก่าแก่รสชาติเด็ด ๆ ไว้มากมาย
จุดที่ 2 ซอยจุฬาฯ 36 สร้างสรรค์โดยศิลปิน Bonus TMC เป็นภาพเสือ ราชาแห่งสัตว์ป่า ผู้นำการเปลี่ยนแปลงกำลังถือรถแทรกเตอร์ แบ็คโฮ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับสามย่าน ที่เป็นแหล่งเซียงกง ขายเครื่องจักรกลต่าง ๆ
จุดที่ 3 ซอยจุฬาฯ 48 บริเวณ “ร้านอาหารจอนนี่” เป็นผลงานของ 2 ศิลปินกราฟฟิตี้ คือ Jecksbkk และ Nongpop โดยทั้งคู่ได้เล่าถึงวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนนี้ผ่านรูปแบบของคาแรคเตอร์หญิงสาวชาวไทยเชื้อสายจีนคนหนึ่ง ที่กำลังนั่งพักผ่อนหย่อนใจบนเบาะโซฟาที่ถูกเย็บขึ้นด้วยมือของช่างทำเบาะ ส่วนหญิงสาวอีกคนหนึ่งก็กำลังนั่งรับประทานอาหารจีนอยู่ ทั้งหมดนี้เป็นความตั้งใจของศิลปินที่จะนำเสนอความเป็นอยู่ อาชีพ เชื้อชาติที่หลากหลาย โดยใช้สัญลักษณ์ หรือ รูปร่างรูปทรงต่าง ๆ ช่วยผลักดันเนื้อหาให้เกิดความสนุก
จุดที่ 4 ผลงานถูกสร้างสรรค์ขึ้นโดยศิลปินสตรีทอาร์ต Mamacup711 และ Chz บนพื้นที่ระหว่างถนนอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ และ สวนหลวงสแควร์ ซึ่งศิลปินทั้ง 2 ท่านได้รับแรงบันดาลใจมาจากเอกลักษณ์ของย่านที่มีความโดดเด่นในเรื่องของกีฬานั่นเอง บริเวณโดยรอบจะมีจุดที่เราสามารถถ่ายรูปเล่นสวย ๆ ได้อีกมากมาย
จุดที่ 5 ตั้งอยู่ที่จุฬาฯ ซอย 20 บนผนังตึกชั้น 2 และ ชั้น 3 ของ “ร้านส้มตำเจ๊อ้อย” ที่ชาวจุฬาและชาวชุมชนสามย่านรู้จักกันดี ผลงานชิ้นนี้เป็นผลงานของศิลปินชื่อ ASIN แรงบันดาลใจในการสร้างผลงานชิ้นนี้มาจากจุดเด่นของสามย่าน ที่ขึ้นชื่อเรื่องอาหารอร่อย บริบทของพื้นที่สร้างงานที่เป็นร้านส้มตำไก่ย่างเจ้าดังในสามย่าน สร้างสรรค์ผลงานโดยใช้ตัวการ์ตูนคาแรคเตอร์ของศิลปินที่เป็นรูปไก่
จุดที่ 6 จุฬาฯ ซอย 50 ผลงานจากความร่วมมือและการออกแบบของศิษย์เก่าคณะศิลปกรรมศาสตร์รุ่น 16 ด้วยแนวความคิดที่ว่า Refocus: นำกลับมา/พิจารณาอีกครั้ง/ ดึงสมาธิกลับมา: หมายถึงการพยายามมองอาคารเดิมในแง่มุมใหม่ อาคารนั้นแม้จะต้องเก่าแก่ไปตามกาลเวลาแต่คุณค่าในตัวก็ยังคงเดิม ยังมีคุณค่าในฐานะสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนผ่านของวัฒนธรรม วิถีชีวิตและจิตวิญญาณของผู้คนในยุคสมัยนั้น (zeitgeist) การเพ้นท์อาคารเก่าหลังหนึ่ง ไม่ควรเป็นการตีความเรื่องต่างๆ อย่างตามใจฉันของผู้สร้างสรรค์ หรือการเอาเรื่องอื่นไปกลบเกลื่อนสิ่งที่ตนเองไม่พอใจ หากเปรียบตึกเป็นบุคคล การเพ้นท์ควรช่วยปรับให้คนๆ นั้นดูน่าชื่นชมขึ้นโดยยังคงความเป็นตัวเขาไว้จริงๆ ไม่ใช่เพ้นท์แล้วทำให้เขาต้องกลายเป็นคนอื่น พร้อมให้ทุกคนมาโพสท่าแบบอาร์ทๆ
พร้อมเตรียมพบกับผลงาน Street Art ที่บริเวณสยามสแควร์ คณะทันตแพทย์ศาสตร์ และ LIDO Connect โดยเมื่อโครงการดังกล่าวเสร็จสมบูรณ์จะเป็นปรากฏการณ์ Street Art ครั้งสำคัญของกรุงเทพมหานครอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะช่วยให้เกิดสีสันที่สวยงามขึ้นในชุมชน ทำให้ชุมชนน่าอยู่ รวมทั้งเป็นที่ ตื่นตา ตื่นใจของนักท่องเที่ยวแห่งอีกแห่งหนึ่งอีกด้วย