Hot Widget

Header ADS
Type Here to Get Search Results !
Header ADS

กรณีสุนัขพันธุ์พิตบูล 6 ตัว กัดหญิงชรา โดย ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการและผู้อำนวยการ สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย

กรณีสุนัขพันธุ์พิตบูล 6 ตัว 
กัดหญิงชรา
โดย ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการและผู้อำนวยการ 
สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย 


จากกรณีที่สุนัขพิตบูล จำนวน 6 ตัว
รุมกัดหญิงชรา วัย 75 ปี จนเสียชีวิต เป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจมาก  จากอุทาหรณ์ดังกล่าวถ้าในแง่กฎหมาย สิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาคือ ข้อเท็จจริงตามพฤติการณ์แห่งกรณี ซึ่งต้องมีการพิสูจน์ให้เป็นที่ยุติเสียก่อน จึงสามารถปรับใช้กับหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้ เช่น ถ้าพบว่า ความเสียหายนั้น เกิดจากการกระทำของผู้ตายเอง โดยสุนัขพิตบูลทั้ง 6 ตัว มีพฤติการณ์ดุร้าย ก้าวร้าวและไม่คุ้นชินกับผู้เสียหายมาก่อน แต่กลับปล่อยสุนัขที่ถูกขังกรงอย่างมิดชิดแน่นหนา ให้หลุดออกมาจนกัดตนเอง เช่นนี้อาจจะไม่สามารถดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายได้ แต่ถ้ามีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงแล้วพบว่า เจ้าของสุนัข ได้กระทำโดยประมาท ปราศจากความระมัดระวัง จนการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย  เจ้าของต้องรับผิด ระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปีและปรับไม่เกินสองแสนบาท ตาม ป.อาญามาตรา 291 ถึงแม้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้เสียหายและเจ้าของสุนัขจะเป็นมารดาและบุตรก็ตาม แต่ความผิดดังกล่าวเป็นอาญาแผ่นดิน รัฐซึ่งเป็นผู้เสียหายจะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นกระบวนความต่อไป



สำหรับสุนัขพันธุ์พิทบูลเทอเรีย เป็นสุนัขควบคุมพิเศษ 1 ใน 5 สายพันธุ์ที่ดุร้าย ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องการควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสุนัข พ.ศ.2548 เจ้าของจะต้องเลี้ยงในสถานที่ หรือกรงที่สุนัขไม่สามารถเข้าถึงบุคคลภายนอก ต้องมีป้ายเตือนให้ระมัดระวังโดยสังเกตได้อย่างชัดเจน และต้องมีการจัดสถานที่เลี้ยงตามความเหมาะสม โดยกรงต้องมีขนาดเพียงพอแก่การดำรงค์ชีวิต มีแสงสว่างและมีการระบายอากาศเพียงพอ มีระบบการระบายน้ำและกำจัดปฏิกูลที่ถูกสุขลักษณะ เจ้าของจะต้องควบคุมสุนัขมิให้ออกนอกสถานที่เลี้ยงโดยปราศจากการควบคุม  มีการดูแลสุนัขมิให้ก่อเหตุเดือดร้อนรำคาญ และถ้ากรณีเจ้าของไม่สามารถเลี้ยงดูสุนัขได้เป็นการชั่วคราว จะต้องจัดให้มีผู้ดูแลความเป็นอยู่ของสุนัขให้เป็นปกติสุข ซึ่งถ้าเจ้าของไม่ประสงค์เลี้ยงดูสุนัขอีกต่อไป ต้องมอบสุนัขให้กับบุคคลอื่น หากเจ้าของไม่สามารถหาเจ้าของใหม่ได้ จะต้องมอบสุนัขให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ถ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานครจะต้องส่งให้หน่วยงานของกรุงเทพมหานครดูแล โดยเจ้าของจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูตามที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนด
จากเหตุการณ์ดังกล่าว คงไม่มีใครอยากจะให้เกิดขึ้นอีก ดังนั้น การเลี้ยงดูสุนัขก็ควรจะเลี้ยงดูให้ดีอย่างรับผิดชอบ และเจ้าของควรมีความรู้ความเข้าใจตามประเภท ชนิด สภาพ อายุและตามลักษณะของสายพันธุ์สุนัขนั้น รวมทั้งควรทำความเข้าใจมาตรฐานทางสังคมหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย จะได้ไม่ต้องเสียใจภายหลังเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เศร้าสลดเช่นนี้อีก