ปฏิบัติการกวาดล้าง สถานพยาบาลเถื่อน 17 จุด 13 คลินิก
ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ชลบุรี และกรุงเทพมหานคร
ศปอส.ตร. ได้รับร้องเรียนผ่านทางเว็บไซต์ www.tactics.center ว่าผู้เสียหายเข้ารับการรักษาฟันกับคลินิกแห่งหนึ่งแล้วไม่หาย แม้เข้าไปขอรับการรักษาซ้ำ อีกทั้งยังเกิดการอักเสบเรื้อรัง จึงเชื่อว่าคลินิกไม่มีแพทย์ประจำหรือมีการรักษาผู้ป่วยด้วยบุคคลที่ไม่มีความรู้ทางการแพทย์หรือแพทย์ปลอม ชุดปฏิบัติการ 20-25 ศปอส.ตร. (Online team) จึงได้ทำการสืบสวนขยายผลจนพบว่ามีการกระทำความผิดดังกล่าวจริง
เป็นเครือข่ายขบวนการ เปิดโรงเรียนบริบาล บริการรถตรวจสุขภาพ โดยไม่มีแพทย์ประจำ มีเงินหมุนเวียนเดือนละกว่าห้าล้านบาท จึงรวบรวมพยานหลักฐาน ยื่นคำร้องขอหมายค้นต่อศาล และศาลได้อนุมัติหมายค้นตามเหตุดังกล่าวรวมทั้งสิ้น จำนวน 17 จุด 13 คลินิก
จนในวันนี้ (26 กุมภาพันธ์ 2562) นำโดย พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผอ.ศปอส.ตร. ผู้บัญชาการการตำรวจตรวจคนเข้าเมืองมอบหมายให้ พล.ต.ต.นิธิธร จินตกานนท์ ผบก.จร./รอง ผอ.ศปอส.ตร., พล.ต.ต.พนัญชัย ชื่นใจธรรม ผบก.สส.สตม./รอง ผอ.ศปอส.ตร. และ พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง ผบก.ตม.๓ สตม./เลขาฯ ศปอส.ตร. นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจชุด ศปอส.ตร. ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง กรมส่งเสริมและบริการสุขภาพ และสาธารณสุขจังหวัด เข้าปฏิบัติการพร้อมกัน เมื่อเวลาประมาณ 13.30 น. พร้อมกันทั้ง 17 จุด 13 คลินิก ดังนี้
1. อรดาสหคลินิก 4 จุด (คลอง 8 ปทุมธานี)
2. มณีนพเก้าคลินิก 2 จุด (คลอง 13 ปทุมธานี)
3. ชนินท์โชติทันตกรรม (ธัญบุรี)
4. ชัยพฤกษ์สหคลินิก (เลียบคลอง 2 ปทุมธานี)
5. ไอยราคลินิก (ตลาดไท)
6. นครชัยคลินิกเวชกรรม (ตลาดไท)
7. ปัญจรัสม์คลินิกเวชกรรม (เมืองเอก)
8. เฮลธ์แคร์คลินิกเวชกรรม (อยุธยา)
9. กันยกรคลิกเวชกรรม (อยุธยา)
10. ดีแคร์ สหคลินิก หรือ โรงโป๊ะสหคลินิก (บางละมุง)
11. เพิ่มพูล คลินิก หรือ พูนทรัพย์ คลินิกเวชกรรม (บางละมุง)
12. เบญจพัชญ์ คลินิกเวชกรรมหรือ เฮลธ์แคร์1 คลินิกเวชกรรม (นาเกลือ)
13. เอ็นเอ็นซี คลินิกเวชกรรม (หนองจอก)
ตามสถานที่ดังกล่าวพบการกระทำความผิดหลายข้อหา ดังนี้
1. ประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ต้องระวาง โทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และศาลจะสั่งริบ บรรดาสิ่งของที่ใช้ในการประกอบกิจการสถานพยาบาลด้วยก็ได้
2. ดำเนินการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ต้องระวาง โทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และศาลจะสั่งริบ บรรดาสิ่งของที่ใช้ในการประกอบกิจการสถานพยาบาลด้วยก็ได้
3. ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต พ.ร.บ.ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525
ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
4. ประกอบวิชาชีพทันตกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต พ.ร.บ.ประกอบวิชาชีพเวชกรรมพ.ศ.2537 ตองระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
ผลการปฏิบัติการดังกล่าวสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้จำนวนทั้งสิ้น 11 ราย ยึดของกลางได้หลายรายการ ได้แก่ เครื่องมือแพทย์และเวชภัณฑ์ ยาแผนปัจจุบัน หลักฐานการโอนเงิน บัญชีธนาคารปลายทาง เป็นพยานหลักฐานในการดำเนินคดี ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า คลินิกข้างต้นมีหลักฐานเส้นทางการเงินเกี่ยวข้องกับนางสาวนิธินันท์ มิลินจรูญพงษ์ (หมอดา) ทั้งหมด จึงจะได้ดำเนินการตรวจสอบตามความผิดเกี่ยวกับพรบ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินต่อไป
พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผอ.ศปอส.ตร. ฝากเตือนไปยังพี่น้องประชาชน หากมีอาการเจ็บป่วย จำเป็นต้องการเข้าไปรับรักษาในคลินิกตามพื้นที่ต่าง ๆ ควรตรวจสอบคลินิกที่เข้าไปรับการรักษาให้ดี โดยดูที่เอกสารประกอบกิจการสถานพยาบาล ในเรื่องสถานที่ กำหนดเวลาการเปิด-ปิด และเอกสารดำเนินการสถานพยาบาล ในเรื่องชื่อและใบหน้าแพทย์ผู้ให้การรักษา รายละเอียดต่างๆ ต้องตรงกันกับในเอกสารดังกล่าว หากไม่เป็นไปตามใบอนุญาตแล้ว ให้สันนิษฐานได้ว่า เป็นสถานพยาบาลที่เปิดโดยผิดกฎหมาย หากเข้ารับการรักษา อาจได้รับการรักษาที่ไม่มีมาตรฐาน จนอาจทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกาย หรืออาจผิดพลาดรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือรู้จักกันในนาม ศปอส.ตร. ซึ่งมีภารกิจหลักในการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการกระทำความผิดทางอาญา ตามนโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อเป็นการยกระดับการให้บริการประชาชนชาวไทยในยุคดิจิทัล
ศปอส.ตร.ยินดี “บริการด้วยใจ สร้างความปลอดภัย เพื่อคนไทยในยุคดิจิทัล”